×

คลังแจงเรียกเงินคืนจากร้านค้าในโครงการเราชนะเพราะทำผิดเงื่อนไข เผยตัดสิทธิ์แล้ว 2,099 ราย

11.10.2021
  • LOADING...
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าหลายรายที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับหมายเรียกจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้คืนเงินโครงการเราชนะ โดยมียอดเงินที่โดนเรียกคืนตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท จนทำให้ #เรียกเงินคืนโครงการรัฐ พุ่งติดเทรนด์ในทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า โครงการเราชนะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ ภายใต้แผนงานเยียวยาตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ จำนวน 33.2 ล้านคนจะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาทตลอดโครงการ ด้วยการใช้จ่ายกับผู้ประกอบการร้านค้าในโครงการ 1.3 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ และบัตรประจำตัวประชาชน 

 

ทั้งนี้โครงการได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการมาโดยตลอด รวมถึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ สามารถแจ้งเบาะแสและส่งหลักฐานการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขโครงการให้ สศค. ทราบ และได้มีประชาชนส่งเบาะแสและหลักฐานมาให้ ซึ่ง สศค. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการต่อไป

 

สศค. ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้กำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับในโครงการ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโครงการที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม (Consent) ที่ได้ตกลงไว้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ (คณะทำงาน) เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืน เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิ์เป็นเงินสด เป็นต้น ก็จะดำเนินการระงับสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป

 

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ มีดังนี้ 

 

  1. การระงับสิทธิ์ชั่วคราวการใช้แอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ เมื่อพบพฤติกรรมที่ผิดปกติในธุรกรรมการใช้จ่าย เช่น จุดรับเงินของแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ ขยับไปมาระยะไกล ธุรกรรมเต็มจำนวนวงเงินสิทธิ์เป็นจำนวนมาก เป็นต้น และแจ้งให้ผู้ประกอบการให้ติดต่อกลับเพื่อชี้แจงโต้แย้งภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้วจะนำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการที่ได้รับเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงาน

 

  1. เมื่อได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าวจริง หรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้มีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้แก่โครงการ และผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้

 

  1. เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ 2 แล้ว กรณีไม่มีการชี้แจงหรือข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มาแต่คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ ก็จะได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยหากผู้ประกอบการยังไม่ชำระเงินคืน ก็จะต้องดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการต่อไป

 

สศค. เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการได้ระงับสิทธิ์ถาวรผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการไปแล้วเป็นจำนวน 2,099 ราย และได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ‘เราชนะ’ เพื่อคืนเงินที่ได้รับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการขออุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา (ขั้นตอนตามข้อ 2) ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของร้านค้า จึงขอให้ผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผล พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ สศค. ภายในระยะเวลาที่กำหนด (เช่น ใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต้นทุนสินค้า หลักฐานการจัดส่งสินค้า เอกสารแสดงสินค้าคงคลัง รวมถึงภาพถ่ายสถานประกอบการ เป็นต้น) เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงาน และกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป 

 

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะส่งเอกสารหรือหลักฐาน หรือกรณีมีความจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารและหลักฐาน ก็อาจขอขยายเวลาการจัดส่ง โดยจัดทำคำร้องพร้อมชี้แจงเหตุผล โดยส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X