×

‘SCB EIC’ คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ยาวถึงสิ้นปีหน้า ห่วงบาทแข็งกระทบการส่งออก

โดย THE STANDARD TEAM
24.12.2020
  • LOADING...
‘SCB EIC’ คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ยาวถึงสิ้นปีหน้า ห่วงบาทแข็งกระทบการส่งออก

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (23 ธันวาคม) มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นหดตัวน้อยลงเหลือ 6.6% จากคาดการณ์เดิมหดตัวที่ 7.8% 

 

ส่วนปีหน้า กนง. ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อยเหลือ 3.2% จากเดิม 3.6% ซึ่งเรื่องนี้ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ยาวจนถึงสิ้นปีหน้า 

 

โดย EIC มองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องในปี 2564  สาเหตุเพราะ 

 

  1. แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่เป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูง 

 

  1. ภาระหนี้ของทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาก 

 

  1. แรงกดดันทางเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปี 2021

 

อย่างไรก็ดี ธปท. มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน ผ่านเครื่องมืออื่นๆ ได้ เพื่อให้สภาพคล่องในระบบที่มีอยู่ในระดับสูงกระจายตัวไปสู่กลุ่มธุรกิจ และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต 

 

การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง รวมถึงการคงมาตรการรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) และมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (MFLF) 

 

ส่วนการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ จับตาการบิดเบือนค่าเงิน (Monitoring List) อาจทำให้ ธปท. เผชิญข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้นในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม จากการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น EIC จึงคงมุมมองค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่ 29.50-30.50 ณ สิ้นปี 2021

 

นอกจากนี้ EIC ยังระบุถึงการส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่หดตัวชะลอลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ด้วยว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ และผลจากสงครามการค้าที่รุนแรงเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบหักผลทางฤดูกาล (MoM) พบว่า การส่งออกในเดือนล่าสุดหดตัวเล็กน้อยที่ -0.3% สะท้อนว่าการฟื้นตัวยังค่อนข้างทรงตัวในช่วงหลัง

 

ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของการส่งออกจะพบกับอุปสรรคในระยะสั้น จากผลกระทบการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การระบาดรอบใหม่ในไทยอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในระยะสั้น 

 

นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีแนวโน้มกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสแรกของปี 2564 รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยในปี 2564

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X