×

‘อนาคตการทำงาน’ มาถึงแล้ว ผลทดลองอังกฤษชี้ ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ทำ ‘องค์กรกำไรพุ่ง-ลาป่วยลด’ 17 บริษัทติดใจ ประกาศเป็นนโยบายถาวร

06.07.2025
  • LOADING...
การทำงาน

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์แต่ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องในฝันสำหรับใครหลายคน แต่ผลการทดลองล่าสุดในสหราชอาณาจักรชี้ว่า แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่เป็นไปได้จริง แต่ยังส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทอีกด้วย นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวัฒนธรรมการทำงานใน ‘อนาคต’ ที่กำลังจะมาถึง

 

โครงการนำร่องซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม 4 Day Week Foundation ได้ทำการทดลองกับพนักงานเกือบ 1,000 คน จาก 17 องค์กร เป็นเวลานาน 6 เดือน โดยให้ทุกคนทำงานน้อยลงแต่ยังคงได้รับค่าจ้างและมีภาระงานเท่าเดิม 

 

ผลปรากฏว่าหลังสิ้นสุดการทดลอง องค์กรทั้ง 17 แห่งตัดสินใจใช้โมเดลการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นการถาวร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความสำเร็จ’ ของโครงการนี้อย่างชัดเจน

 

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ฝั่งลูกจ้างเท่านั้น เพราะองค์กรบางแห่งมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีสถิติการลาป่วยของพนักงานลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 

 

ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ BrandPipe บริษัทซอฟต์แวร์ในลอนดอน ที่มีรายได้พุ่งสูงขึ้นเกือบ 130% ซึ่ง เจฟฟ์ สลอเตอร์ ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า “การทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น” และเป็นสิ่งที่ธุรกิจอื่นๆ ควรลอง

 

อย่างไรก็ตาม รายงานการทดลองก็ยอมรับว่าข้อมูลด้านรายได้และการลางานยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กและไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการวิเคราะห์เชิงสถิติที่สมบูรณ์แบบ 

 

โดยในกลุ่มบริษัทที่ให้ข้อมูลด้านรายได้ มี 3 ใน 4 แห่งที่รายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อมูลการลาป่วยก็มีทั้งที่ลดลงและเพิ่มขึ้นปะปนกันไป ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนในเบื้องต้นเท่านั้น

 

กระแสการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่นี่ที่เดียว แต่เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก จากการทดลองที่คล้ายกันในสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, และเยอรมนี ต่างก็ได้ผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกันคือ พนักงานมีความสุขและสุขภาพดีขึ้น ที่สำคัญคือบริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเลือกที่จะใช้โมเดลนี้ต่อไปในระยะยาว แสดงให้เห็นว่านี่คือแนวทางที่ใช้ได้ผลจริง

 

แม้จะมีผลลัพธ์เชิงบวกออกมามากมาย แต่ก็ยังมีเสียงท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์ ไมเคิล แซนเดอร์ส จาก King’s College London ชี้ให้เห็นถึง ‘อคติ’ ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง (Self-selection bias) โดยมองว่าบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ มักจะเป็นบริษัทที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเข้ากับนโยบายนี้ได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าโมเดลนี้จะใช้ได้ผลกับทุกองค์กร

 

โจ ไรล์ ผู้อำนวยการของ 4 Day Week Foundation ตอบโต้ประเด็นนี้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทหลายร้อยแห่งจากหลากหลายอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการด้วยระดับความกระตือรือร้นที่แตกต่างกันไป แต่เขาก็ยอมรับว่าในอนาคตควรมีการเพิ่มองค์ประกอบของการสุ่มและควบคุม (Randomized control) เพื่อให้ผลการทดลองมีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

 

ไม่ว่าการทดลองในอนาคตจะออกมาในรูปแบบใด แต่อลัน บรันต์ ซีอีโอของ Bron Afon Community Housing หนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการล่าสุด กลับมองโลกในแง่ดีอย่างยิ่ง เขากล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมคาดว่าองค์กรส่วนใหญ่จะหันมาใช้นโยบายนี้กันอย่างแพร่หลายในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า”

 

ภาพ: Dragana Gordic/Shutterstock

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising