×

กล้องเจมส์ เว็บบ์ พบโมเลกุลการเกิดดาวเคราะห์หินในบริเวณสภาพแวดล้อมรุนแรงของทางช้างเผือก

04.12.2023
  • LOADING...

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้ตรวจพบโมเลกุลสำคัญสำหรับการกำเนิดดาวเคราะห์หิน ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมปั่นป่วนรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก

 

นักดาราศาสตร์จากนานาประเทศได้ใช้กล้องเจมส์ เว็บบ์ ศึกษาบริเวณจานกำเนิดดาวเคราะห์ 15 แห่ง ภายในเนบิวลาล็อบสเตอร์ หรือวัตถุ NGC 6357 ซึ่งเป็นเนบิวลาที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 5,500 ปีแสง และประกอบด้วยดาวฤกษ์มวลมากอายุน้อยที่มีความร้อนสูง และปลดปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตออกมาเป็นจำนวนมาก

 

ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ในจานกำเนิดดาวเคราะห์ eXtreme Ultraviolet Environments 1 หรือ XUE 1 ประกอบไปด้วยฝุ่นซิลิเกต โมเลกุลของน้ำ คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และอะเซทิลีน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์หินแบบโลกของเราได้

 

Lars Cuijpers หนึ่งในคณะวิจัยของการค้นพบครั้งนี้ จากมหาวิทยาลัยรัดเบาด์ ระบุว่า “พวกเราทั้งตกใจและตื่นเต้น เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่มีการพบโมเลกุลเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงเช่นนี้” เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของจานกำเนิดดาวเคราะห์ XUE 1 ที่ค่อนข้างใกล้กับดาวฤกษ์มวลมากหลายดวงในเนบิวลาล็อบสเตอร์

 

นักดาราศาสตร์จึงคาดว่ามันอาจได้รับผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลตของดาวฤกษ์ จนทำให้ก๊าซและโมเลกุลต่างๆ แตกกระเจิงไป

 

การค้นพบในครั้งนี้แปลว่าดาวเคราะห์หินอาจสามารถก่อตัวขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงกว่าที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ โดย María Claudia Ramírez หัวหน้าคณะวิจัยจาก Max Planck Institute for Astronomy อธิบายว่า “XUE 1 แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์หินก็สามารถเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ ดังนั้นขั้นถัดไปของเราคือการตรวจสอบว่ามันเกิดขึ้นโดยปกติไหม”

 

ข้อมูลการค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน The Astrophysical Journal เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะวิจัยได้ใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ MIRI หรือ Mid-Infrared Instrument ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งศึกษาเอกภพในช่วงคลื่นอินฟราเรดกลาง ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา

 

ภาพ: ESO

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X