×

อย. เผย พบแหล่งผลิตยาลดความอ้วนปลอมจำนวนมาก หวังกวาดล้างผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด

09.07.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (8 ก.ค.) เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า จากกรณีที่มีหญิงสาวในจังหวัดอ่างทองเสียชีวิตจากการรับประทานยาลดความอ้วน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์และปทุมธานี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้าตรวจค้นและจับกุมโครงข่ายผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตอาหารและบ้านพักอาศัยในจังหวัดกาฬสินธุ์ 3 แห่ง และจังหวัดปทุมธานี 1 แห่ง ซึ่งจากการตรวจค้นทั้ง 4 แห่ง พบพยานหลักฐานสำคัญ โดยเฉพาะที่ บริษัท ดี.ดี.คอสเมด จำกัด ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถานที่ผลิต ได้ตรวจพบรายการยาชุดเดียวกับที่พบจากผู้เสียชีวิต เช่น ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) (ยาระบาย) HCTZ (ยาขับปัสสาวะ) และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ไซบูทรามีน เฟนเทอร์มีน และพบเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยจำนวนมาก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ อย. เคยแจ้งเตือนไปแล้วว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภคเนื่องจากตรวจพบไซบูทรามีน เช่น บาชิ (Baschi), ลิด้า (Lida) 

 

อีกทั้งยังพบเป็นแหล่งผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปลอม ได้แก่ ยาเฟนเทอร์มีน (Phentermine) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป แพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตขายวัตถุ ออกฤทธิ์ในประเภท 2 จึงจะสามารถซื้อยาจาก อย. และเป็นผู้จ่ายยาให้กับคนไข้ของตน โดยจะต้องจัดทำรายงานส่งให้ อย. ทุกเดือน นอกจากนี้ยังพบเป็นแหล่งผลิตยาชุดและขายส่งยาชุดลดความอ้วนที่แอบอ้างชื่อคลินิกต่างๆ และขายทางสื่อออนไลน์ โดยพบหลักฐานซองยาระบุชื่อ เช่น ยาลดน้ำหนักคลินิก ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักคลินิกหมอโชคชัย เดิมแคร์คลินิก และ Obe-Care Clinic เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นยาจากคลินิกหมอซึ่งมีความปลอดภัย

 

ทั้งนี้ อย. ได้มีการยกกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งหากผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย นอกจากนี้จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าสามารถลดน้ำหนักได้ เพราะส่วนใหญ่มักตรวจพบว่ามีส่วนผสมของไซบูทรามีน 

 

ซึ่งสารเหล่านี้มีอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น อีกทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาคือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และหากได้รับยาในปริมาณมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ทาง อย. จะเร่งดำเนินการเฝ้าระวังและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้องหากพบผู้กระทำการฝ่าฝืนเพื่อกวาดล้างและจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างเข้มงวดต่อไป

 

 

ภาพ: กระทรวงสาธารณสุข

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X