นักดาราศาสตร์ตรวจพบ 2 ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงดาวเสาร์ ในวงโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ TOI-4600 แสดงให้เห็นความหลากหลายของระบบดาวต่างๆ ในเอกภพ
ดาวเคราะห์ TOI-4600 b และ c ได้รับการตรวจพบโดยนักดาราศาสตร์จาก Massachusetts Institute of Technology และ University of New Mexico ด้วยการศึกษาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ของ NASA
กล้อง TESS ได้บันทึกข้อมูลแสงของดาวฤกษ์ดวงต่างๆ บนฟ้าไกล เพื่อให้นักดาราศาสตร์สามารถมองดูการหรี่แสงของดาวฤกษ์ ขณะมีดาวเคราะห์ขนาดเล็กโคจรตัดผ่านหน้า เรียกว่าวิธีการ Transit ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคสำคัญที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดย 74.4% ของดาวเคราะห์ราว 5,500 ดวงที่ได้รับการยืนยันในปัจจุบันถูกพบจากวิธีการ Transit
ดาว TOI-4600 c มีขนาดใกล้เคียงดาวเสาร์ อยู่ห่างจากโลก 815 ปีแสง และใช้เวลาประมาณ 482.82 วัน เพื่อโคจรรอบดาวฤกษ์หนึ่งรอบ ทำให้เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีคาบการโคจรยาวนานที่สุดเท่าที่เคยถูกตรวจพบจากกล้อง TESS และยังมีอุณหภูมิ -78 องศาเซลเซียส หรือเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่หนาวเหน็บที่สุดจากการค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีดาว TOI-4600 b ที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเนปจูนเล็กน้อย ในวงโคจรที่ใช้เวลา 83 วัน และมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 76.6 องศาเซลเซียส ซึ่งนักดาราศาสตร์ค่อนข้างประหลาดใจที่ได้ตรวจพบดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์สองดวงในระบบดาวเดียวกัน
Ismael Mireles หัวหน้าคณะวิจัยในการค้นพบครั้งนี้ ระบุว่า “จากข้อมูลทั้งหมดที่เรามี ไม่มีระบบดาวไหนคล้ายกับระบบสุริยะเลย เราจึงอยากศึกษาการก่อตัวของดาวเคราะห์เพิ่มเติมจากระบบดาวแห่งนี้ เพื่อดูว่าระบบดาวแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีอะไรอีกไหมที่เรายังไม่ทราบในปัจจุบัน”
ในตอนนี้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะแล้วไม่น้อยกว่า 5,595 ดวง โดยมีอีกประมาณ 10,146 ดวงที่ยังรอการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และคาดว่าอาจมีอีกหลายล้านล้านดวงกระจายตัวอยู่ทั่วเอกภพรอคอยการค้นพบจากนักดาราศาสตร์ในอนาคต
ภาพ: NASA, ESA, CSA, D. Player (STScI)
อ้างอิง: