ธนินท์ เจียรวนนท์ ขึ้นเวที Forum for World Education ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ชี้สังคมคือโรงเรียนที่ดีที่สุด และการลงมือทำคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เสนอแนวคิดลดจำนวนปีของการเรียนในระบบการศึกษา โดยให้จบมหาวิทยาลัยที่อายุ 18 ปี จากปกติเรียนจบที่อายุประมาณ 21-22 ปี
วันที่ 3 ธันวาคม 2562 ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ร่วมงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในการประชุมเพื่อการศึกษาโลก 2019 หรือ Forum for World Education ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ในหัวข้อ ‘รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า’ โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจและทุกภาคส่วนระดับโลก เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี, แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา และ เดวิด ครุกแชงก์ ประธานบริษัท ดีลอยท์ แห่งสหราชอาณาจักร
ธนินท์กล่าวว่า การศึกษาแห่งอนาคตต้องประยุกต์ให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ตามหลัง ต้องนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ในการเรียนการสอน เช่น การสอนออนไลน์ แต่ท้ายที่สุดต้องให้นักเรียนลงไปสัมผัสของจริง ไม่ใช่อยู่แต่ในห้องเรียน
“ต้องลงไปสัมผัสของจริง ศูนย์ผู้นำของซีพีใช้วิธีการนี้แล้วเห็นผลชัดภายใน 3 เดือน เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือหลังมือ เมื่อได้ลงไปเจอปัญหา สัมผัสปัญหา แก้ไขปัญหา ความรู้และความคิดของคนรุ่นใหม่ก็กลายเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าแก้ไขปัญหาได้ก็จะได้ความรู้ที่แท้จริง ในหนังสือไม่ได้มีปัญหาที่แท้จริง ถ้าเราเรียนหนังสืออย่างเดียว เราก็จะรู้แคบมาก
“ผมคิดว่า โลกนี้ต้องการคนที่ทำงานจริง ไม่ใช่เรียนแต่ในหนังสือ” เขาย้ำ “ต้องสัมผัสของจริง จะทำให้เก่งเร็ว จากประสบการณ์ผม ถ้ามัวแต่สอน เขาไม่เข้าใจนะ แล้วแต่คนคิดและจับประเด็น แต่เวลาลงมือทำ ทุกคนจะเข้าใจตรงกัน มองเห็นปัญหาเดียวกัน”
ภายหลังจากกล่าวบนเวทีแล้ว ธนินท์ยังได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ว่า เขามีแนวคิดอยากให้เด็กไทยเรียนจบมหาวิทยาลัยที่อายุ 18 ปี แล้วทำงานได้เลย โดยลดจำนวนปีลงจากระบบการศึกษาปกติประมาณ 4 ปี
“สังคมคือโรงเรียนที่ดีที่สุด อายุ 18 ปี ควรจบมหาวิทยาลัยแล้วทำงานจริง คนรุ่นใหม่ต้องสำเร็จได้เร็ว สมัยนี้ปลาเร็วกินปลาช้า ต้องเร็วแบบมีคุณภาพ ที่ศูนย์ผู้นำซีพีใช้เวลา 3-6 เดือน ก็เป็นผู้จัดการได้แล้ว สร้างกำไรได้ แต่ของผมเป็นเชิงธุรกิจ ฝั่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัย หรือภาคการศึกษาก็ควรจะต้องเร็วเช่นเดียวกัน”
ธนินท์มองว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันใช้เวลามากเกินไป ช่วงอายุ 18 ปี คือวัยที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงศักยภาพมากเท่าที่ควร
THE STANDARD ถามธนินท์ว่า แล้วความเชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรม การแพทย์ หรือกฎหมาย ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ จะทำอย่างไร ธนินท์ตอบว่า หากเป็นความรู้เฉพาะทางให้ไปศึกษาต่อตามที่จำเป็น แต่การศึกษาปริญญาตรีขั้นพื้นฐานควรลดจำนวนปีเหลือที่ 18 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงในสังคมแห่งการทำงาน
“เด็กสมัยนี้ฉลาดกว่าคนสมัยก่อน เราต้องสนับสนุนให้เขาเรียนจากสังคม เพราะเรียนจากโรงเรียนยังได้น้อยกว่าสังคม ผมเองก็เรียนจากสังคมมาทั้งชีวิต ปัจจุบันก็เรียนจากเด็กรุ่นใหม่ เรียนจากความคิดใหม่ๆ ของเด็ก คุณอย่าไปมองข้าม คนที่อายุมากจะไม่ก้าวหน้า เพราะนึกว่าตัวเองเก่งที่สุด ผมยังเรียกเด็กรุ่นใหม่ว่าอาจารย์ เพราะเขาเก่งกว่าเราด้านใดด้านหนึ่งเสมอ
“ความรู้ของเรา ประสบการณ์ของเรา มันใช้กับสมัยใหม่ไม่ได้ ยุคก่อนอาจทำได้ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว มันกำลังเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราต้องไปเรียนรู้ ตามโลกให้ทัน แต่สำคัญที่สุดคือ เราที่เป็นผู้อาวุโสต้องห้ามชี้นำ แต่ต้องชี้แนะ ถ้าไปชี้นำ เขาก็ไม่สนุก ต้องให้เขาได้คิดเอง สนุกด้วย เข้าใจด้วย ถ้าเสียหาย เขาก็รับผิดชอบเอง เรียนรู้จากความล้มเหลวด้วยตัวเอง”
ธนินท์ยังให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงอีกหนึ่งแนวคิดที่ต้องปฏิรูปการศึกษาคือ รายได้ของครู สังคมต้องยกย่องและให้เกียรติวิชาชีพนี้มากกว่านี้
“เราต้องสร้างอาจารย์ที่เยี่ยมที่สุด ต้องให้เกียรติที่เยี่ยมที่สุด รายได้ที่เยี่ยมที่สุด คนเก่งๆ ในสังคมต้องอยากเป็นครู ถ้าให้เงินเดือนน้อย ไม่มีเกียรติ คนเก่งๆ ที่มีโอกาสอีกเยอะก็ไม่อยากมาเป็นครู นอกจากบางท่านที่เก่งและเสียสละด้วย แต่คนแบบนี้มีไม่เยอะ ต้องให้คนเก่งๆ แข่งกันมาอยากเป็นครู”
ทั้งนี้ Forum for World Education หรือ FWE เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดตัวองค์กรในปีนี้ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษากับการทำงานให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอมุมมองด้านธุรกิจต่อการจัดการศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล