×

F1 vs. FIA ความขัดแย้งในคดีของ โตโต-ซูซี โวล์ฟฟ์ ที่อาจกลายเป็นรอยร้าวอันยากจะสมาน

07.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • นิตยสาร BusinessF1 ตีพิมพ์บทความที่อ้างว่า ผู้บริหารทีมจำนวนหนึ่งกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง ซูซี กับ โตโต โวล์ฟฟ์
  • ซูซี โวล์ฟฟ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ F1 Academy เธอจึงมีข้อมูลมากมายที่หากเธอส่งต่อให้โตโต สามีของเธอซึ่งเป็นทีมบอสของเมอร์เซเดส AMG ก็จะสร้างความได้เปรียบอย่างมากให้กับพวกเขา
  • ทีมเมอร์เซเดสออกมาปฏิเสธเรื่องการเอื้อผลประโยชน์ทันที ขณะที่อีก 9 ทีมที่เหลือก็ยืนยันว่า พวกเขาเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับบทความดังกล่าว
  • แต่ FIA ก็เปิดฉากสอบสวนเรื่องนี้ ทำให้ฝั่งลิเบอร์ตี้มีเดีย ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าของ F1 ไม่พอใจเป็นอย่างมาก
  • จุดจบของความขัดแย้งครั้งนี้จึงแบ่งออกได้หลายรูปแบบ อาจจะจบแบบไม่มีอะไรเลย หรือถึงขั้นแตกหักแยกย้ายกันระหว่าง F1 กับ FIA เลยก็ได้

ทั้งที่ปิดฤดูกาลไปแล้ว แต่เรื่องราวของศึกฟอร์มูลาวันก็ยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากที่ไม่กี่วันมานี้มีดราม่าใหม่ซึ่งอาจกลายเป็นรอยร้าวครั้งใหญ่ระหว่างองค์กรปกครองการแข่งขันรถยนต์อย่างสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA กับฝ่ายดำเนินการแข่งขันอย่างฟอร์มูลาวัน อันมีจุดเริ่มต้นมาจากบทความเพียงชิ้นเดียว

 

จุดเริ่มต้นของความวุ่นวายในโลกของรถสูตรหนึ่งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นิตยสาร BusinessF1 ตีพิมพ์บทความที่อ้างว่าผู้บริหารทีมในศึกรถสูตรหนึ่งจำนวนหนึ่งเป็นกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง ซูซี โวล์ฟฟ์ ผู้อำนวยการ F1 Academy คนปัจจุบัน กับ โตโต โวล์ฟฟ์ ทีมบอสของเมอร์เซเดส AMG

 

แฟนๆ F1 เกือบทุกคนคงรู้ดีกันอยู่แล้วว่า ซูซีกับโตโตเป็นสามี-ภรรยากัน ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงปลายอาชีพการเป็นนักขับ DTM ของซูซี

 

แตกต่างจาก โตโต โวล์ฟฟ์ ที่อยู่กับทีมเดียวมาอย่างยาวนาน เพราะเขาเข้ามารับงานที่เมอร์เซเดส AMG F1 ตั้งแต่ปี 2013 หลังออกจากตำแหน่งบริหารในทีมวิลเลียมส์ แต่ซูซีมีชีวิตที่ค่อนข้างโลดโผนหลังจากแขวนพวงมาลัย โดยเธอทำงานกับวิลเลียมส์ตั้งแต่ปี 2012-2015 ก่อนจะย้ายไปทำงานกับฟอร์มูลาอีในปี 2018-2022 และกลับมารับงานดูแล F1 Academy เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

นั่นเองที่เป็นประเด็นร้อน ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นเรื่องราวดราม่าระหว่างองค์กรปกครองโลกยานยนต์อย่าง FIA และ F1 ที่เป็นฝ่ายจัดการแข่งขัน จนถึงปัจจุบันนี้

 

ทำไม ซูซี โวล์ฟฟ์ จึงสำคัญ?

 

 

ตำแหน่งผู้อำนวยการ F1 Academy ของ ซูซี โวล์ฟฟ์ ฟังผ่านๆ ก็อาจคิดว่าเป็นโรงเรียนสอนขับรถภายใต้สังกัดของ F1 หรืออาจเป็นโปรแกรมพัฒนานักขับ ไม่ก็อะไรทำนองนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว F1 Academy คือการแข่งขันชิงแชมป์รถที่นั่งเดี่ยวสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเปิดแข่งขันฤดูกาลแรกในปี 2023 

 

ให้คิดง่ายๆ ได้เลยว่าเป็น F1 ของผู้หญิง และนั่นหมายความแบบเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ซูซี โวล์ฟฟ์ ใหญ่ที่สุดในการแข่งขันรายการดังกล่าว นั่นทำให้เธอสำคัญมาก เพราะเธอกลายไปเป็นผู้กุมข้อมูลทุกอย่างของการแข่งขันเอาไว้ ซึ่งเธอมีหน้าที่เพียงแค่รายงานตรงต่อ สเตฟาโน โดเมนิคาลี ประธาน F1 คนเดียวเท่านั้น

 

ข้อมูลที่ว่ายังรวมถึงข้อมูลด้านเทคนิคของการแข่งขัน เช่น เรื่องของเครื่องยนต์, อากาศกลศาสตร์ (Aerodynamic), CFD, ดาวฟอร์ช และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์และนำไปปรับใช้งานในศึก F1 ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อมีข้อสงสัยว่าซูซีเอื้อเฟื้อข้อมูลดังกล่าวให้กับโตโตหรือไม่? เพราะถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลนี้ให้กันจริง ก็จะทำให้เมอร์เซเดส AMG มีความได้เปรียบเหนือทีมอื่นๆ ที่ร่วมแข่งขัน F1 ไปโดยปริยาย

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านั่นเป็นข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะทั้งคู่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา ถึงแม้ว่าในฐานะความเป็นมืออาชีพแล้ว การเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยก็ตาม

 

แต่หากมองให้เป็นกลางแล้วก็ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูลสักเท่าไร และข้อมูลที่ ซูซี โวล์ฟฟ์ มีในมือ แม้จะสร้างความได้เปรียบให้ผู้ที่ได้ไปจริง แต่ก็คงไม่มากเท่าไรนัก 

 

และหากโตโตได้มันไปแล้วจริงๆ แต่ผลงานของทีมเมอร์เซเดสยังตามหลังทีมเรดบูลล์สุดกู่แบบในฤดูกาลที่เพิ่งผ่านไป ก็ยิ่งหมายความว่าข้อมูลที่ว่าไม่ได้ส่งผลต่อการแข่งขันมากมายขนาดนั้น และอาจไม่ใช่เรื่องที่ทีมอื่นๆ ควรใส่ใจเลยก็ได้เช่นกัน

 

ความสามัคคีของคนใน F1

 

 

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่มีการเผยแพร่บทความดังกล่าวจากทาง BusinessF1 ฝั่ง โตโต โวล์ฟฟ์ และทีมเมอร์เซเดส AMG ก็ออกแถลงการณ์ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีการเอื้อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใดๆ จากซูซี ภรรยาของโตโตเลยแม้แต่น้อย

 

หลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงในเวลาไล่เลี่ยกัน ทาง FIA ก็กระโดดมารับลูกต่อทันทีด้วยการเปิดการสอบสวนว่าทางฝั่ง โตโต และ ซูซี โวล์ฟฟ์ มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อกันจริงหรือไม่ 

 

โดยแถลงการณ์ฉบับแรกของ FIA ที่มีการแจ้งการเปิดการสอบสวนนั้นได้มีข้อความที่จะทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง FIA กับ F1 ในเวลาต่อมาชัดเจนขึ้น หลังพวกเขาระบุในแถลงการณ์ว่า ‘ได้รับข้อมูลมาจากฝ่ายบริหารขององค์กรใน F1’

 

แต่ทว่าทางฝั่ง F1 ก็สามัคคีกันอย่างเหลือเชื่อ เมื่อทุกค่ายต่างออกแถลงการณ์ว่าพวกเขาไม่ได้ร้องเรียนใดๆ ต่อ FIA เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง โตโต โวล์ฟฟ์ และ ซูซี โวล์ฟฟ์ 

 

ที่แสบกว่านั้นก็คือ ถ้าหากไปไล่อ่านแถลงการณ์จากทุกค่ายแล้วจะพบว่ามีเนื้อหาเหมือนกันทุกตัวอักษร ย้ำว่า ‘ทุกตัวอักษร’ ซึ่งสามารถตีความได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า “พวกข้าคุยกันแล้ว แล้วเอ็งไปคุยกับใครมา” ซึ่งเหมือนส่งสารกลับไปยัง FIA ว่า “อย่ามายุ่ง”

 

ด้าน F1 ที่ออกแถลงการณ์มาก่อนหน้านี้ก็ถือว่าเปิดหน้าชนไปก่อนแล้ว โดยตอกกลับไปถึงทาง FIA ว่า F1 มีกระบวนการที่หนาแน่นพอ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่แล้ว และอย่ายัดเยียดข้อกล่าวหาร้ายแรงโดยไร้เหตุผลเช่นนี้

 

ปิดท้ายที่แถลงการณ์ตอบโต้ของ ซูซี โวล์ฟฟ์ ซึ่งเรียกได้ว่า ‘เดือด’ ที่สุด โดยเธอกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ FIA จงใจใช้สถานะสมรสมาเล่นงานเธอและสามี โดยยังตอบโต้กลับทาง FIA ไปด้วยว่า มีพฤติกรรมข่มขู่และเกลียดชังผู้หญิง (ในจุดนี้เหมือนเธอจงใจกล่าวกระทบไปยัง โมฮัมเหม็ด เบน ซูลาเย็ม ประธาน FIA ซึ่งเคยมีพฤติกรรมการเหยียดเพศในอดีต) ซึ่งในช่วงท้ายของแถลงการณ์เธอยืนยันการปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาด้วย

 

FIA vs. F1 จบตรงไหนดี?

 

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ FIA กับ F1 เผชิญหน้ากัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 หากยังจำกันได้ คดีการตัดสินของ ไมเคิล มาซี ที่ส่งผลต่อการลุ้นแชมป์ F1 ในปีดังกล่าวก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ F1 ไม่พอใจการทำงานของ FIA ในฐานะองค์กรกำกับดูแลอยู่ก่อนแล้ว 

 

แถมในปี 2023 ยังมีประเด็นที่ซาอุดีอาระเบียต้องการจะซื้อ F1 แต่ทางลิเบอร์ตี้มีเดียตั้งราคาไว้สูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 7 แสนล้านบาท โดยทางเบน ซูลาเย็ม ก็ออกมากล่าวว่าเป็นราคาที่สูงเกินจริง แต่ทาง F1 ก็ตอบโต้ว่า FIA ไม่มีหน้าที่จะออกความเห็นเรื่องการพาณิชย์ของ F1

 

และอีก 1 ข้อขัดแย้งที่เพิ่งเกิดคือ การที่ FIA พยายามอย่างหนักในการผลักดันให้ F1 มีเพิ่มเป็น 12 ทีม จากปัจจุบันที่มีกันอยู่ 10 ทีม

 

โดยสาเหตุที่ F1 ต้องยอมอ่อนข้อให้ FIA ในบางครั้งแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน เนื่องจาก FIA ก็ยังเป็นเจ้าของสิทธิ์ทางการค้าของ F1 ด้วยเช่นกัน หลังคณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดให้มีการแยกบทบาทด้านกฎระเบียบออกจากฝ่ายการค้า ส่งผลให้ทั้งสององค์กรแยกจากกัน แต่มีสัญญาร่วมกันอยู่ถึง 100 ปี

 

แล้วถ้าเป็นแบบนั้นเรื่องนี้จะจบลงตรงไหนดี?

 

คำตอบของคำถามนี้มีไม่กี่ทางคือ ทางแรก FIA ยอมถอยด้วยการปล่อยให้เรื่องซาแล้วตัดสินว่าคู่สามี-ภรรยาโวล์ฟฟ์ไม่มีความผิด เส้นทางนี้จะทำให้เกิดการประนีประนอม และเราก็จะได้เห็นศึก F1 ที่คุ้นชินดำเนินต่อไป

 

อีกทางคือ FIA ไม่ถอย นั่นหมายความว่าอาจถึงขั้นแตกหัก ซึ่งตรงนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะทีเดียว ไล่ตั้งแต่ผลตัดสินว่าผิดหรือไม่ ผิดมากหรือผิดน้อย โทษรุนแรงแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ดูจากความสามัคคีของฝั่ง F1 แล้ว พวกเขาจะอยู่เคียงข้างคู่สามี-ภรรยาโวล์ฟฟ์อย่างแน่นอน

 

ซึ่งหาก FIA ไม่ยอมถอยจริงๆ ทางที่แย่ที่สุดอาจถึงขั้นที่ลิเบอร์ตี้มีเดียยอมปล่อย F1 ออกไป แล้วเราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกของรถสูตรหนึ่งก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X