×

อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. ประสานเสียงมาตรการคุมสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นความท้าทายหลักในอนาคต พร้อมระบุ ‘แบงก์ชาติ’ ต้องร่วมกำกับดูแล

07.10.2022
  • LOADING...
ก.ล.ต.

อดีตเลขาฯ สำนักงาน ก.ล.ต. มีความคิดเห็นตรงกันว่า มาตรการคุมสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นความท้าทายหลักที่สำนักงาน ก.ล.ต. ต้องเผชิญในอนาคต ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าแบงก์ชาติต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแล 

 

เอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าจะขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียงแค่ตลาดทุนและตลาดเงิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


และล่าสุดมีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทุนและในประเทศไทย แต่กลับไม่มีฝ่ายที่กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้ ก.ล.ต. นั้นจะต้องเข้าไปรับหน้าที่ดูแล ซึ่งกฎเกณฑ์ควบคุมต่างๆ ที่มีอยู่ไม่เหมือนเดิม จึงจะต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ 

 

ทั้งนี้ การสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่นั้นถือเป็นความท้าทายที่ทาง ก.ล.ต. จะต้องดำเนินการ และควรจะดำเนินการในรูปแบบที่ทำให้แน่ใจได้ว่ากฎเกณฑ์นั้นๆ เท่าทันต่อสถานการณ์ 

 

ด้าน รพี สุจริตกุล อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ฝ่ายผู้กำกับดูแลขาดเครื่องมือในการเข้ามาดูแล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายกำกับดูแลได้ให้คนกลางเข้ามาดูแลระบบเรื่องการส่งมอบ

 

ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปสู่เรื่องที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว จึงทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีความคุ้นเคยกับระบบบริหารจัดการความเสี่ยงเข้ามาดูแล และผู้ลงทุนที่เข้ามาก็ถือเป็นผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ และถูกดึงมาด้วยความโลภ จึงถือเป็นความท้าทายที่ทาง ก.ล.ต. จะควบคุมได้อย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าฝ่ายกำกับดูแลจะไม่สามารถควบคุมได้ เพราะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลถูกขับเคลื่อนด้วยนักลงทุน และในขณะเดียวกันฝ่ายกำกับดูแลไม่สามารถที่จะปกป้องผู้ลงทุนได้ทั้งหมด และผู้ลงทุนไม่มีความเชื่อในคนกลางที่ควบคุม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะอยู่ในตลาดนี้ได้คือจะต้องเรียนรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง และจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกลไกลของตลาดได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องดึงธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลร่วมกับองค์กรผู้ที่เป็นผู้กำกับดูแลทั้งหมด

 

ขณะที่ ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า บทบาทของ Digital Technology, Data Analytics และ Data Science จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย 

 

  1. การวิเคราะห์แนวโน้มของตลาด ตลอดจน Trading Mechanisms ที่จะมีความซับซ้อนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จะเข้ามาทำงานทดแทนที่มนุษย์ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี

 

  1. ความจำเป็นในการมีตัวกลางและผู้ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น นักวิเคราะห์การเงินการลงทุน การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และนายหน้าการซื้อขายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ เนื่องจากมีความแม่นยำสูงกว่า รวดเร็วกว่า

 

  1. การทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์ และลดบทบาทหน้าที่ของตัวกลางลง เป็นแนวคิดที่จะต้องพัฒนาอย่างเข้มข้นต่อไป โดยผู้ประกอบการ ผู้กำกับดูแล และนักลงทุน ต้องเข้าใจแนวคิดใหม่ในตลาดการเงิน

 

ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เข้ามา แต่หน้าที่ของเงินทุนจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งยังคงมีหน้าที่หลักในการเป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า รวมถึงการกำหนดค่ารักษามูลค่าเหมือนที่เป็นมา อย่างไรก็ตาม รูปแบบของเงินจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเกิดขึ้นของ Digital Currency 

 

ทั้งนี้ แนะนำให้ ก.ล.ต. เพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย และปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ต่อมาคือการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืน (ESG) เพื่อที่จะยกระดับบริษัทจดทะเบียนไทยให้เป็นที่ยอมรับสู่สากล และสุดท้ายการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทจดทะเบียน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

 

นอกจากนี้ จะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย โดยให้ตลาดทุนมีบทบาทมากขึ้นในการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กลงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

 

ในขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปในการบริหารเงินส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ การออมเพื่อที่จะสร้างหลักประกันในชีวิต และการสร้างทักษะทางการเงินที่จำเป็น

 

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาตลาดการเงินและตลาดทุนของไทยมี Digital Currency เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบ ซึ่งประเทศไทยมี ก.ล.ต. รับหน้าที่ในการเข้ามาดูแล โดยจะต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากรูปแบบของ Digital Currency มีความแตกต่างไปเมื่อเทียบกับตลาดทุนเดิม ถือเป็นความท้าทายที่ ก.ล.ต. จะต้องดำเนินการ เนื่องจากจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม หากกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถทำให้เดินหน้าต่อไปได้

 

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวว่า ความท้าทายต่อเนื่องของตลาดทุนไทยใน 10 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 3 แกนหลัก คือ 

 

  1. ความทั่วถึง โดยที่ผ่านมาหลายๆ อย่างมีการเจริญเติบโต แต่ผลประโยชน์ของการเติบโตไปได้ไม่ทั่วถึง 

 

  1. ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความสะดวก โดยเริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยี 

 

  1. เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์มากต่อชาวโลก

 

สำหรับสิ่งที่จะฝากถึง ก.ล.ต. คือ บทบาททางด้าน Digital Currency ในส่วนที่จัดทำขึ้นแล้วมีสินทรัพย์ต่างๆ หรือมีการลงทุนในธุรกิจ และสิทธิ์การใช้ต่างๆ รองรับไม่ได้เป็นปัญหา 

 

สำหรับส่วนที่เป็นปัญหาคือกลุ่มของคริปโตเคอร์เรนซี ที่ไม่ได้มีพื้นฐานใดๆ เข้ามารองรับ แต่นำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า โดยกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะออกมาจะต้องฟังผู้ที่มีส่วนได้-เสียมากๆ เพื่อที่จะไม่ให้ศักยภาพของเราเป็นเพดานในการจำกัดความก้าวหน้าของตลาดทุน

 

ส่วน วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะขณะนี้และในช่วงที่ผ่านมาไทยกำลังขาดดุลการคลังกว่า 7 แสนล้านบาทมาหลายปีติดต่อกัน และมีงบลงทุนเหลือเพียง 20% ของวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีเงินลงทุนเกี่ยวกับการลงทุนในถนน และก่อสร้างโรงเรียนแค่เพียง 6 แสนล้านบาท เนื่องด้วยงบประมาณที่จำกัด

 

โดยหน้าที่ของตลาดทุนที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องคือ จะต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยมีกฎเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อรองรับไว้แล้ว และเป็นจุดที่ตลาดทุนต้องผลักดันให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ด้วยการเอากองทุนโครงสร้างพื้นฐานมาช่วยเพื่อพัฒนาประเทศ

 

ขณะเดียวกัน การจะสะสมทุนสำรองของประเทศให้เพิ่มขึ้นได้นั้นจะต้องไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ย แต่จะต้องสะสมโดยการสร้างให้เกิดการระดมทุน ให้มีการลงทุนต่างประเทศเข้ามา และมีเงินทุนเข้าตลาดทุน และตลาดทุนเองต้องเข้มแข็ง เพื่อให้คนเข้ามาลงทุนร่วมกับคนไทยและต่างชาติ ถึงจะทำให้ไทยมีเงินทุนเข้าประเทศ

 

ทั้งนี้ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากปัญหาโลกแบ่งข้างในปัจจุบัน ทำให้บางประเทศลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ และหาสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทนการชำระเงิน ทั้งในส่วนของสกุลเงิน เพื่อใช้ทำการค้าระหว่างประเทศ และสกุลเงินที่สามารถนำไปลงทุนได้โดยไม่โดนยึดง่ายๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นการใช้สกุลเงินท้องถิ่นอย่างเงินรูเบิลแลกเงินรูปี เข้ามาแทนที่ดอลลาร์บ้างแล้ว

 

แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้สกุลเงินท้องถิ่นดังกล่าวเกิดดอกผลงอกงามขึ้นมาในระหว่างการถือครอง และหากมีความจำเป็นต้องยืมเงินเพื่อใช้ในอนาคต จะทำได้อย่างไร ทั้งนี้ ด้วยปัญหาดังกล่าวถือเป็นโจทย์ของ ก.ล.ต. เพื่อหาวิธีในการรองรับและอำนวยความสะดวก            

 

ขณะเดียวกัน การค้าโลกที่แบ่งออกเป็น 2 ข้าง จะทำให้เกิดการค้าที่เรียกว่า Regional Trade ที่เข้มข้นขึ้น และการค้าขายกับประเทศจีนก็จะมีมากขึ้นด้วย รวมถึงการใช้ดิจิทัลหยวนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งไทยต้องกลับมาถามตัวเองว่าจะอำนวยความสะดวกได้อย่างไร หรือจัดทำพื้นที่การใช้ดิจิทัลหยวนรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่มาท่องเที่ยวไทยให้สามารถใช้ได้ทันที หรือ SMEs ไทยที่ต้องการเข้าไปในแพลตฟอร์มการซื้อขายของ Alibaba หรือในเพจต่างๆ ของจีน เพื่อขายสินค้าไปจีน จะทำอย่างไรให้การทำธุรกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่น ทั้งการนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาจีน การชำระเงินเป็นดิจิทัลหยวน ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ 2 ของตลาดทุนไทย จะเข้าไปสนับสนุน-รองรับตรงนี้ได้อย่างไร

 

“เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ตราบใดที่การทำธุรกรรมนั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่า ไวกว่า อีกทั้งยังมีการพัฒนา Wed 3.0 ซึ่งจะเป็นเว็บที่มีอิสรเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองการใช้ในเรื่องของดิจิทัลจะกลายเป็นเครื่องมือ Open Government เพื่อลดความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน และทั่วโลกก็ให้ความสำคัญมากขึ้น เห็นได้จากสหรัฐฯ ได้นำเข้ามาอยู่ในกรอบ Asia Pacific Economic Framework ชี้ให้เห็นว่าในเวลานี้สหรัฐฯ ตั้งโจทย์ในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว โดยมีความต้องการออกเกณฑ์กำกับดูแล เพื่อยังทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลกอยู่ รวมไปถึงการหาวิธีบล็อกดิจิทัลหยวนด้วย ซึ่งในแง่ของการบริหารจัดการของฝ่ายกำกับดูแลตลาดทุนไทย จะต้องคิดว่าจะวางแผนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร” ธีระชัยกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X