×

เอกภพ อดีต ส.ส. อนาคตใหม่ ชี้ไทยเป็นลูกไล่จีนในความสัมพันธ์แบบ ‘มดกับราชสีห์’ ยกสถานการณ์น้ำโขงแห้งสะท้อนไทยเสียเปรียบ

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2020
  • LOADING...

ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูกพุ่งเป้าจากฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ช่วงเช้าที่ผ่านมา เอกภพ เพียรพิเศษ อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดเชียงราย อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน โดยอ้างถึงคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่เคยเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศว่าเป็น ‘มดกับราชสีห์’ โดยหยิบยกตัวอย่างปัญหา 6 ประเด็นมาอภิปราย ได้แก่ ปัญหาล้งลำไย, ตลาดอสังหาริมทรัพย์, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เอื้อต่อกลุ่มทุนจีน, การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง

 

ในประเด็นภัยแล้ง เอกภพหยิบยกตัวอย่างที่อ้างว่าสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมดกับราชสีห์ได้เป็นอย่างดีคือประเด็นแม่น้ำโขงที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตประเทศจีนนับ 10 เขื่อน ทำให้จีนเป็นผู้กำหนดความอยู่รอดของแม่น้ำโขงส่วนปลายที่พวกเราอยู่กัน 

 

โดยในปลายปี 2562 จีนมีการทดลองเดินเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้น้ำที่ปล่อยมาลดลง เมื่อเกิดเหตุน้ำลด แม่น้ำโขงแห้ง รัฐบาลไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปอ้อนวอนขอให้จีนปล่อยน้ำมากขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการประโคมข่าวว่าจีนปล่อยน้ำให้เราแน่นอน พระยาราชสีห์ใจดีกับเรามากๆ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากสถานีวัดน้ำที่เชียงแสน ระดับน้ำเฉลี่ยแทบไม่กระดิก จนถึงปัจจุบันระดับน้ำเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์น้อยกว่าปีก่อนๆ พอสมควร นี่คือภัยแล้งที่ประเทศไทยและคนไทยต้องเจอ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งคงไม่ได้เป็นการเดินทางไปขอความเมตตากับราชสีห์เป็นครั้งๆ แต่การแก้ไขปัญหาแบบนี้ต้องทำกันในลักษณะนานาชาติ 

 

“ถ้าคุณประยุทธ์มีการรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าคุณประยุทธ์มีภาวะของการเป็นผู้นำประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศอื่นกับเรารวมตัวกันแล้วไปเจรจาด้วยกัน แก้ปัญหาไปด้วยกันกับรัฐบาลจีนที่เป็นต้นน้ำ นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดมากกว่า”

 

ด้าน ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า การเดินทางไปประเทศจีนเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมาไม่มีการอ้อนวอนแต่อย่างใด แต่ไปในฐานะมิตร เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนและไทยมีความสัมพันธ์ที่ดี เคยขอกันเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงแล้วก็ได้ตามที่ขอ เช่น การขอไม่ให้มีการขุดลอกเกาะแก่งที่จะมีผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งวิถีชีวิตชุมชนของประเทศต่างๆ 

 

ส่วนกรณีวันที่ 23 มกราคมได้กล่าวถึงภัยแล้งในประเทศไทย จึงขอให้จีนช่วยพิจารณาว่าจะทำอะไรได้บ้างตามที่ทำได้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนรับปากจะช่วยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา หลังจากที่ตนเดินทางกลับในวันเดียวกัน โดยถึงประเทศไทยช่วงค่ำวันที่ 23 มกราคม จึงได้รับคำตอบจากว่าจีนจะเพิ่มระดับการปล่อยแม่น้ำโขงมาช่วยไทยตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมเป็นต้นไป 


พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising