จากที่เคยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ ‘ฟาสต์แฟชั่น’ ร่วมกับ H&M หรือ Zara แต่ช่วงที่ผ่านมา Forever 21 เชนเสื้อผ้าชื่อดังจากแคลิฟอร์เนียซึ่งก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้กลับตกเป็นข่าวซ้ำๆ เกี่ยวกับวิกฤตของบริษัท ทั้งมีข่าวว่าจะยื่นขอ ‘ล้มละลาย’ ในช่วงเดือนสิงหาคม ไปจนถึงการประกาศปิดตัวอย่าง ‘ถาวร’ ในประเทศต่างๆ ล่าสุดคือญี่ปุ่น
ดูเหมือนว่า ‘วิกฤต’ ของ Forever 21 จะหนักหนาจนไม่อาจนำพาให้ธุรกิจฝ่ากระแสคลื่นอันแปรปรวนนี้ไปได้ เช้าวันนี้ (30 กันยายน) สื่อสหรัฐอเมริกาชื่อดังหลายสำนักทั้ง The New York Times, CNBC และ CNN ได้รายงานตรงกันว่าเชนฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันได้ยื่น ‘ล้มละลาย’ ตามมาตรา 11 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังเผชิญการกัดเซาะของห้างสรรพสินค้าและรสนิยมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าหนุ่มสาว
เตรียมปิด 178 สาขาในสหรัฐอเมริกา และอาจมากถึง 350 สาขาทั่วโลก
ธุรกิจที่ยังคงเป็น Family Business ได้พยายามหลายเดือนในการปรับโครงสร้างธุรกิจ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่เป็นผล ภายหลังการยื่นล้มละลาย Forever 21 จะปรับโครงสร้างอีกครั้ง โดยเตรียมยุติการทำธุรกิจใน 40 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงแคนาดาและญี่ปุ่น คาดว่าจะมีการปิดสาขาสูงสุด 178 สาขาในสหรัฐอเมริกา และอาจมากถึง 350 สาขาทั่วโลก จากจำนวนร้านที่มีทั้งหมดกว่า 815 สาขา
การสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีโดยไม่ผิดกฎหมายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญเมื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย Forever 21 ยืนยันว่าจะยังคงเปิดขายในช่องทางออนไลน์และร้านค้าหลายร้อยแห่งในสหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่ง Forever 21 เป็นผู้เช่ารายใหญ่ที่สุดลำดับที่ 7 ของไซมอน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป
Forever 21 วางแผนที่จะโบกมือลาประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียและยุโรป สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดจะปักหลักต่อไป รวมไปถึงในเม็กซิโกและลาตินอเมริกาที่ยังได้ไปต่อด้วย
CNBC รายงานว่ายักษ์ใหญ่ฟาสต์แฟชั่นได้รับเงินทุนมูลค่า 275 ล้านดอลลาร์ หรือว่า 8,400 ล้านบาท จาก JPMorgan และอีก 75 ล้านดอลลาร์ ราว 2,300 ล้านบาท จาก TPG Sixth Street Partners รวมถึงกองทุนในเครือเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในการล้มละลาย
“นี่ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินได้อีกในอนาคตภายหลังจากปรับโครงสร้างใหม่ เราหวังว่าจะสามารถกลับไปทำสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดได้” ลินดา จาง รองประธาน Forever 21 กล่าว
พ่อแม่ของลินดาคือ จางโดวอน และจางจินซุก ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ โดยก่อตั้ง Forever 21 ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากอพยพจากเกาหลีใต้มาที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นิตยสาร Forbes ได้รายงานว่าทั้งคู่มีทรัพย์สินสุทธิ 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 45,000 ล้านบาท จากธุรกิจที่ทำยอดขายปีละ 3,400 ล้านดอลลาร์
การล้มละลายของ Forever 21 ย้ำภาพค้าปลีกที่กำลังล่มสลาย
การล้มละลายของแบรนด์แฟชั่นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแบรนด์ในฝันของชาวอเมริกัน ถือเป็นเครื่องเตือนใจว่ารูปแบบค้าปลีกเปลี่ยนไปรวดเร็วเพียงใด Forever 21 เคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เมื่อต้นปี 2000 ด้วยสินค้าที่เลียนแบบสไตล์ของนักออกแบบในราคาที่ต่ำที่สุด
เมื่อรวมกับกระแสอันหวือหวาของ H&M หรือ Zara แล้ว ได้กระตุ้นให้ธุรกิจฟาสต์แฟชั่นเติบโตอย่างรวดเร็วในใจของผู้ซื้อชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงสาวที่สัมผัสกับสินค้าใหม่ทุกครั้งเมื่อพวกเธอเดินเข้าไปในร้าน แต่บริษัทก็ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามาแข่ง
“เราขยายจาก 7 ประเทศเป็น 47 ประเทศภายในระยะเวลาน้อยกว่า 6 ปี” ลินดากล่าว ในเวลาเดียวกันเธอกล่าวว่า “อุตสาหกรรมค้าปลีกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการชะลอตัวของปริมาณคนที่เดินเข้าห้างสรรพสินค้า และยอดขายขยับขึ้นสู่ออนไลน์มากขึ้น”
‘อีคอมเมิร์ซ’ คิดเป็นยอดขาย 16% ของ Forever 21 โดยปีที่ผ่านมาคิดเป็นตัวเลขทั้งสิ้น 3,300 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 4,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเคยทำได้ในปี 2016 โดยคาดว่าหลังจากปรับโครงสร้าง ยอดขายจะเหลือปีละ 2,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนพนักงานในวันนี้มีทั้งสิ้น 32,800 คน ลดลงจาก 43,000 คนในปี 2016
การเฟื่องฟูของโลกออนไลน์ซึ่งสร้างยอดขายแบบก้าวกระโดดได้สร้างภาระให้กับบรรดาร้านค้าปลีก การยื่นล้มละลายของ Forever 21 ย้ำภาพเหล่านั้นให้ชัดเจนขึ้นไปอีก เพราะเมื่อผู้คนไม่เข้าไปช้อปในห้างสรรพสินค้าอีกแล้ว ‘ค่าเช่า’ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ร้านค้าต้องแบบรับไว้เอง และกลายเป็นต้นทุนหลักที่ทำให้ธุรกิจอยู่ไม่ได้
ในปีที่ผ่านมาร้านค้าปลีกหลายแห่งที่ได้ปิดร้านค้าและดิ้นรนโดยการยื่นฟ้องล้มละลาย จนถึงปีนี้จากข้อมูลของ Coresight Research ผู้ค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศปิดร้านค้ามากกว่า 8,200 แห่ง ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วทั้งหมด 5,589 แห่ง
ลูกค้าสนใจ ‘สินค้าฟาสต์แฟชั่น’ น้อยลง
ลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Forever 21 ยอมรับว่าความท้าทายของ Forever 21 นอกจากลูกค้าที่ไปเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลงแล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการที่ลูกค้าสนใจในสินค้าฟาสต์แฟชั่นลดน้อยลง
แม้ว่าครั้งหนึ่งผู้เป็นพ่อ จางโดวอน ผู้บริหารสูงสุดของ Forever 21 เคยให้สัมภาษณ์ในปี 2012 ไว้ว่าฐานลูกค้าหลักของ Forever 21 คือกลุ่มคนที่อายุราว 20 ปี รวมไปถึงผู้ที่แม้จะอายุมากกว่า แต่ยังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในวัยนี้ คำพูดของผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่ฟาสต์แฟชั่นสะท้อนออกมาจากข้อมูลที่ระบุว่าฐานผู้ซื้อหลักกว่า 40% อยู่ในวัย 25-40 ปี
เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ Forever 21 ลืมไปคือคู่แข่งที่เข้าใจโลกดิจิทัลมากกว่าได้เพิ่มขึ้นมาทุกวัน
ที่สำคัญผู้บริโภคในวันนี้มองว่า “สุนทรียภาพทางอารมณ์และร่างกายไม่ใช่สิ่งที่นักช้อปในปัจจุบันต้องการมากนัก” เวนดี้ ลีปแมนน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WSL Strategic Retail กล่าวและยืนยันว่า
“ลูกค้าอายุน้อยหันมาซื้อสินค้าและแบรนด์ที่ให้ความยั่งยืนมากกว่า”
ตีความหมายได้ว่าธุรกิจที่ต้องการจับลูกค้าอายุน้อยไม่สามารถทำธุรกิจโดยขายเพียงภาพลักษณ์อย่างเดียวอีกต่อไป สิ่งที่ต้องมาคู่กันคือ ‘ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆ เวลาที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าสักชิ้นไปเสียแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: