นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทย 9 วันรวด จากแรงกดดัน 2 ส่วนหลัก คือ ผลประกอบการหุ้นขนาดใหญ่ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ลดลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี
เมื่อปี 2565 นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไปมากถึง 2 แสนล้านบาท และยังซื้อต่อเนื่องอีก 1.8 หมื่นล้านบาทในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ในช่วง 9 วันทำการล่าสุด นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายขายสุทธิต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าการขาย 2.1 หมื่นล้านบาท
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “ก่อนหน้านี้ต่างชาติซื้อมาต่อเนื่อง เดือนมกราคมก็ซื้อเยอะ จากมุมมองว่าไทยเป็นหนึ่งใน Safe Haven จากความเสี่ยง Recession แต่ปรากฏว่าตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปไม่ได้แย่อย่างที่คาด และราคาก๊าซธรรมชาติลดลง ทำให้ทิศทางเปลี่ยน เงินไหลกลับไปยุโรป”
ล่าสุดหุ้นในยุโรปปรับตัวขึ้นจนทำสูงสุดในรอบปี ดัชนี Stoxx 50 ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นยุโรป 50 ตัว เพิ่มขึ้นราว 30% ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับผลกระทบต่อหุ้นไทย ในระยะสั้นอาจยังเห็นเงินทุนไหลออกและเป็นช่วงของการปรับพอร์ตของนักลงทุน แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะเติบโตได้ ทำให้ความเสี่ยงที่หุ้นไทยจะปรับตัวลงแรงอาจไม่มากนัก
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แรงขายของนักลงทุนต่างชาติในหุ้นไทยเกิดจาก 2 ส่วนหลัก คือ
- ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่เข้ามาเก็งกำไรในส่วนของผลประกอบการต้องผิดหวัง
- ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนตำแหน่งถือเป็นจุดพลิกเกม และทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน เพราะไม่คาดคิดว่าตัวเลขจะออกมาสูงขนาดนี้
“ก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนไม่เคยเชื่อคำพูดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กลับหันมาเชื่อ Dot Plot และหันมาเชื่อความคิดของ Fed มากขึ้น รวมถึงการที่นักลงทุน 70-80% เชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนพฤษภาคม จากเดิมที่แทบไม่มีใครคาดคิด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น”
ผลที่ตามมาคือ แรงขายที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคกดดันให้สกุลเงินต่างในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อ่อนค่า อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นในเอเชียที่ยังน่าสนใจคือจีนและเวียดนาม ซึ่งเป็นสองตลาดที่ Underperform เมื่อปีก่อนจากความเสี่ยงเฉพาะตัว
ส่วนหุ้นไทยซึ่งเดิมทีคาดว่าจะปรับตัวขึ้นได้ในไตรมาสแรก ช่วงที่เหลือนี้อาจเป็นเพียงการแกว่งตัวออกข้าง (Sideway) จนกว่าจะเห็นการ Price In เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเดือนพฤษภาคมครบ 100%
ทั้งนี้ ความเสี่ยงขาลงของหุ้นไทยน่าจะอยู่ราว 1,600-1,630 จุด ในไตรมาสแรก ส่วนไตรมาส 2 และ 3 มีความเสี่ยงจะลดลงไปได้ถึง 1,500 จุดในกรณีเลวร้ายที่สุด
“ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาคือ การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้ ส่วนตัวไม่อยากให้ขึ้น แต่หากแบงก์ชาติยังให้น้ำหนักเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นมักจะไม่ชอบ และ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่านักลงทุนมักจะโยกเงินหนีออกจากประเทศที่เข้มงวด”
ในระยะสั้นที่เงินทุนยังไหลออก เชื่อว่าจะยังการสลับซื้อ-ขายหุ้นขนาดเล็กต่อไป ส่วนหุ้นกลุ่มที่น่าจะพอเก็งกำไรได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้คือ กลุ่มที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI ได้แก่
- หุ้นที่ถูกนำเข้าดัชนี MSCI Standard Index ได้แก่ BANPU
- หุ้นที่ถูกถอดออกจากดัชนี MSCI Standard Index นั้นไม่มี
- หุ้นที่ถูกนำเข้าดัชนี MSCI Small Cap Index ได้แก่ AURA, BTG, ONEE, SNNP และ THCOM
- หุ้นที่ถูกถอดออกจากดัชนี MSCI Small Cap Index ได้แก่ BANPU, COM7, TIDLOR และ TISCO
บทความที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- 10 หุ้นร้อน หนี้สิน (D/E) เกิน 2 เท่า เงินสดสุทธิติดลบ
- เช็กลิสต์ 10 หุ้นใหญ่สุด ใน 10 หมวดธุรกิจที่ Market Cap สูงสุด