×

จุลพันธ์เผย ต่างชาติสนใจลงขันแลนด์บริดจ์ หลังขึ้นเวทีฟอรัมการเงินที่ฮ่องกง พร้อมย้ำ ‘ดอกเบี้ยสูง เพิ่มภาระประชาชน’

25.01.2024
  • LOADING...

งาน Asian Financial Forum ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานของฮ่องกงคือ HKSAR และ HKTDC ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2024 ครั้งนี้ THE STANDARD WEALTH เป็นหนึ่งในสื่อที่ได้รับเชิญจาก HKTDC 

 

งานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม Multilateral Cooperation for Shared Tomorrow โดยคาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากนานาประเทศ

 

THE STANDARD WEALTH ได้รับเชิญจากสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) และรัฐบาลฮ่องกง เพื่อเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยคือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เข้าร่วมงาน และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมแสดงความเห็นบนเวทีในปีนี้ 

 

จุลพันธ์ย้ำ ดอกเบี้ยสูง เพิ่มภาระประชาชน

 

จุลพันธ์กล่าวผ่านเวที Plenary Session I ว่า ในมุมของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในเวลาเดียวกัน 

 

“ปีที่ผ่านมาอัตรากำไรในระบบธนาคารพาณิชย์สูงมากจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นก็เป็นภาระที่ใหญ่ขึ้นสำหรับประชาชนเช่นกันสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยที่มากขึ้น” 

 

ผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) มีส่วนช่วยให้สถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ความแข็งแกร่งนี้เกิดบนต้นทุนของประชาชนซึ่งจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น 

 

“ในขณะที่ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตรากำไรของแบงก์ก็เพิ่มขึ้นจนกำไรสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้เกิดจากสเปรด หมายความว่าส่วนต่างเงินกู้กับเงินฝากไม่ได้กว้างขึ้น แต่แบงก์มีกำไรจากค่าธรรมเนียมการปรับโครงสร้างหนี้และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการฝากเงินสำรองตามกฎหมายไว้ ซึ่งในอดีตได้ดอกเบี้ย 0.25% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2.5%”​

 

หวังดึงต่างชาติร่วมลงทุนแลนด์บริดจ์

 

ฮ่องกงมีตลาดการเงินที่ใหญ่มากและพร้อมที่จะช่วยเหลือไทยในจัดหาเงินทุนในระดับโลกสำหรับโครงการใหญ่ๆ ซึ่งฮ่องกงก็รับรู้ในโครงการอย่างอีอีซี (EEC) หรือแลนด์บริดจ์ (Landbridge)

 

“ฮ่องกงอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม โดยการช่วยผลักดันให้กลไกการลงทุนเกิดขึ้นจริง รวมทั้งจัดหานักลงทุนที่เหมาะสม สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จากที่พูดคุยกับต่างชาติภายในงานวันนี้ มีอย่างน้อย 3-4 รายที่สนใจ และยังไม่ได้มีข้อกังวลใดๆ ซึ่งเราก็เปิดกว้างสำหรับการร่วมลงทุน” 

 

ขณะเดียวกันเราก็ฟังเสียงที่คัดค้านด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและอธิบายในสิ่งที่แต่ละฝ่ายกังวล 

 

จุลพันธ์กล่าวต่อว่า เดินทางมาร่วมงาน Asian Financial Forum ด้วยจุดประสงค์หลักคือ การหยิบยกประเทศมาอยู่ในแถวหน้าของอาเซียนและในสายตาของโลกอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน หรือการเงิน 

 

ความกังวลของแต่ละประเทศในขณะนี้ไม่ค่อยต่างกันนัก คือเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่เดินหน้าในเรื่องนี้ โดยตั้งแต่ปี 2560 ได้มีระดมทุนผ่าน Green Bond มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ารวม 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

หลังจากนี้รัฐบาลมีแผนจะออกพันธบัตรรัฐบาลที่อิงกับความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) มูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์ในอีก 1-2 ปีหลังจากนี้ โดยจะออกขายในสกุลเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ หยวน หรือเยน เป็นต้น 

 

“ไทยเว้นช่วงจากการออกพันธบัตรในสกุลต่างประเทศถึง 20 ปี แม้ดอลลาร์บอนด์อาจแพงกว่า แต่เราต้องการทำเพื่อสร้างเครดิตให้กับภาคเอกชนที่จะออกไปแสวงหาแหล่งเงินทุนต่างประเทศ” 

 

อย่างไรก็ดี สุขภาพทางการคลังของไทยยังค่อนข้างดี โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับ 62% ต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ 70% และหนี้ส่วนใหญ่ราว 98% เป็นหนี้ในประเทศ

 

ชาติศิริร่วมฉายมุมมองต่อเศรษฐกิจโลก

 

ชาติศิริเปิดเผยผ่านเวที Global Economic Outlook ว่า ในปี 2024 การเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนจะทำได้ดีกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ย หนุนจากโครงสร้างประชากร การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร และการใช้จ่ายของผู้คนที่ยังเพิ่มขึ้น 

 

“ในอาเซียนเราเห็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างโดดเด่น ซึ่งภายใน 5 ปีหลังจากนี้จะได้เห็นดอกผลจากการลงทุนเหล่านี้ รวมทั้งการเติบโตจากการเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีอย่าง AI และภายในปี 2030 ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนจะใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก” ชาติศิริกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising