×

ต่างชาติแห่ซื้อบอนด์ไทยเดือนเดียวเฉียด 9 หมื่นล้าน กูรูชี้ ผลพวงการเข้ามาทำ Arbitrage กินส่วนต่างจากดอกเบี้ยในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา

27.01.2022
  • LOADING...
ตลาดพันธบัตร

นักลงทุนต่างชาติยังคงหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร (บอนด์) ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1-26 มกราคม) นักลงทุนกลุ่มนี้มียอดซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ไทยรวมกันเฉียด 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น

 

รุ่นอายุต่ำกว่า 1 ปี 49,910 ล้านบาท

รุ่นอายุ 1-3 ปี 16,903 ล้านบาท

รุ่นอายุ 3-5 ปี 5,912 ล้านบาท

รุ่นอายุ 5-10 ปี 13,659 ล้านบาท

รุ่นอายุมากกว่า 10 ปี 3,254 ล้านบาท

รวม 89,638 ล้านบาท

 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า จะเห็นว่าเม็ดเงินที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในบอนด์ระยะสั้น ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่าเม็ดเงินที่เข้ามาเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การเก็งกำไรค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความพยายามที่จะทำกำไรจากส่วนต่าง (Arbitrage) อัตราดอกเบี้ยในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานอกประเทศ (FX Swap Offshore) มากกว่า

 

ประเด็นเหล่านี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เข้ามาทำธุรกรรม Long Position เงินบาท จนมีปริมาณเงินบาทล้น ส่งผลต่อดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาด FX Swap Offshore ต่ำลง มีบางช่วงถึงขั้นติดลบราว 1% หมายความว่าผู้ที่มากู้ยืมเงินบาทก็จะมีกำไรตรงนี้ทันที 1% และเมื่อนำเงินบาทไปลงทุนในบอนด์ระยะสั้นที่ปัจจุบันมีอัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) อยู่ที่ราวๆ 0.4-0.5% เท่ากับว่านักลงทุนเหล่านี้จะมีกำไรจากการทำ Arbitrage รวมกันถึงราวๆ 1.4-1.5%

 

“ถามว่าความผิดปกตินี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรค่าเงินที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลในตลาดดอกเบี้ยขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือ การที่นักลงทุนต่างชาติซื้อบอนด์สั้นๆ เป็นจำนวนมาก เกิดจากพวกเขาสามารถไปหาเงินบาทต้นทุนต่ำผิดปกติจากตลาด FX Swap Offshore มาได้ ดังนั้นการซื้อบอนด์สั้นๆ จึงเป็นเพียงการทำ Arbitrage ดอกเบี้ย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการกู้เงินบาทที่ว่านี้ต่ำผิดปกติอาจมีได้หลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่มีบทบาทมากที่สุดคือการเก็งกำไรค่าเงิน”

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันเริ่มดีขึ้น โดยต้นทุนการกู้ยืมเงินบาทในตลาด Offshore เริ่มกลับสู่ระดับสมดุลมากขึ้น หมายความว่าผู้กู้ยืมจะมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในระดับใกล้ปกติ และเมื่อนำเงินบาทมาลงทุนในตลาดบอนด์ ผลตอบแทนที่ได้จากการ Arbitrage ก็ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต การซื้อบอนด์สั้นๆ ก็จะหยุดไปอย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่ง

 

ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาว ถือเป็นนักลงทุนระยะยาว หรือที่เรียกว่า Real Money เช่น กลุ่มประกันชีวิต หรือกองทุนประเภทบริหารความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Funds) ซึ่งลงทุนกระจายไปยังประเทศต่างๆ และหนึ่งในหลายปัจจัยที่พวกเขาอาจพิจารณาเข้าลงทุนคือ Real Yield ซึ่งบอนด์ไทยถือว่ามี Real Yield ที่ไม่ติดลบมาก เพราะเงินเฟ้อไม่สูงเหมือนในหลายประเทศ 

 

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค โดยมีระดับการแข็งค่าขึ้นราว 0.6% ขณะที่เกาหลีใต้และอินเดียเป็นสองประเทศที่ค่าเงินอ่อนลงมากสุดราวๆ 1%

 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising