×

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศในเวอร์ชันไทย ส่วนใหญ่ ‘ร่วง’ หรือ ‘รอด’?

04.07.2022
  • LOADING...
รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ความจริงแล้วเรื่องโปรดักชันของละครไทยหลายๆ เจ้าก็ทำออกมาได้ดี แต่ติดปัญหาที่บทละคร ไม่ใช่ว่าคนเขียนบทของไทยไม่เก่ง แต่ด้วยงบประมาณ เวลา และจำนวนคนเขียนบทในเมืองไทย (ตลาดคนดูละครไทยก็มีส่วน) ทำให้เนื้อหาวนเวียนอยู่กับประเด็นไม่กี่เรื่อง
  • ช่อง 3 เคยซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์จากต่างประเทศมาผลิตในเวอร์ชันไทย เช่น ในปี 2562 กับเรื่อง ลิขิตรักข้ามดวงดาว จากซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง My Love from the Star และในปี 2564 ก็ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ตุรกีเรื่อง Ölene Kadar มาสร้างเป็นละครเรื่อง บาปอยุติธรรม แต่กระแสตอบรับกลับไม่ดีอย่างที่คิด 
  • ช่อง one31 ถูกโฉลกละครแนวนี้ ด้วยการหยิบจับซีรีส์จากไต้หวันมาทำในเวอร์ชันไทย อย่าง เมีย 2018 ที่รีเมกจาก The Fierce Wife ก็ทำเรตติ้งตอนจบได้ถึง 6.4  และ เธอคือพรหมลิขิต ที่รีเมกจาก Fated to Love You ก็คว้าเรตติ้งตอนจบไปได้ถึง 4.4 
  • True4U แม้จะไม่ค่อยมีกระแสในเมืองไทย แต่กลับไปฮิตในต่างประเทศ อย่างเช่น Full House วุ่นนักรักเต็มบ้าน ก็ฮิตมากๆ ในจีน ทำให้ ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล และ ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง กลายเป็นขวัญใจชาวจีนจนถึงทุกวันนี้

เปิดตัวโปสเตอร์อย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันก่อนสำหรับ Doctor Foster เวอร์ชันไทยในชื่อ เกมรักทรยศ พอวันรุ่งขึ้นบริษัทผู้ผลิตอย่าง JSL Global Studio ก็ประกาศปิดธุรกิจบางส่วน เล่นเอาใจหายใจคว่ำว่าซีรีส์รีเมกที่รอคอยเรื่องนี้จะตกไปอยู่ในมือใคร สรุปสุดท้ายก็ยังคงอยู่ในมือพาร์ตเนอร์อย่างจูเวไนล์ (Juvenile) อยู่ดี 

 

ซึ่งถ้าหากดูจากผลงานชิ้นเก่าๆ อย่าง Mother เรียกฉันว่า…แม่ (LINE TV), Tea Box ชายชรากับหมาบ้า (Thai PBS), The Rhythm of Life จังหวะชีวิต…ลิขิตฝัน (Thai PBS) ก็จะเห็นจุดเด่นในเรื่องภาพและการเล่าเรื่องสะเทือนอารมณ์ได้ดี ดูแล้วก็น่าจะเหมาะกับละครที่สร้างจากบทละครระดับอินเตอร์แบบนี้ 

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

จังหวะหัวใจนายสะอาด

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

 Mother เรียกฉันว่า…แม่

 

Doctor Foster เป็นผลงานบทประพันธ์ของ ไมค์ บาร์เลตต์ ผลิตโดย BBC Studios ที่เคยประสบความสำเร็จทั้งทางด้านเรตติ้งและรางวัลในสหราชอาณาจักร ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ในเวอร์ชันของประเทศต่างๆ ทั้งในฝรั่งเศส, รัสเซีย, อินเดีย, เกาหลีใต้, ตุรกี, ฟิลิปปินส์, ไทย และอินโดนีเซีย 

 

ส่วนเวอร์ชันที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดก็คงจะเป็น The World of the Married ของเกาหลีใต้ ที่ครองตำแหน่งซีรีส์ที่มีเรตติ้งสูงสุดในเคเบิลทีวีของเกาหลีใต้คือ 28% และเวอร์ชันฝรั่งเศสกับตุรกีก็ประสบความสำเร็จมากในเรื่องเรตติ้งเช่นกัน แต่ก็ใช่ว่าทุกๆ เวอร์ชันจะปังทั้งหมด เพราะอย่างในเวอร์ชันอินเดียก็ได้กระแสในระดับกลางๆ แต่ได้รับคำชมในแง่การแสดง ขณะที่เวอร์ชันฟิลิปปินส์ที่เพิ่งออกอากาศไปก็นำไปยืดจนมีความยาวมากกว่า 100 ตอน! (เวอร์ชันต้นฉบับมีเพียง 10 ตอนเท่านั้น!) และจากการลองสแกนดู เวอร์ชันเกาหลีใต้และอินเดียทำออกมาได้ดีและใกล้เคียงต้นฉบับที่สุด เรียกว่าฉากสำคัญๆ มีความคล้ายกันแทบจะช็อตต่อช็อตเลยทีเดียว

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

เกมรักทรยศ

 

ความจริงแล้วเรื่องโปรดักชันของละครไทยหลายๆ เจ้าก็ทำออกมาได้ดี แต่ติดปัญหาที่บทละคร ไม่ใช่ว่าคนเขียนบทของไทยไม่เก่ง แต่ด้วยงบประมาณ เวลา และจำนวนคนเขียนบทในเมืองไทย (ตลาดคนดูละครไทยก็มีส่วน) ทำให้เนื้อหาวนเวียนอยู่กับประเด็นไม่กี่เรื่อง หลายๆ ช่องจึงหันไปมองบทซีรีส์จากต่างประเทศแทน อย่างช่อง 3 ก็เคยซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์จากต่างประเทศมาผลิตในเวอร์ชันไทย เช่น ในปี 2562 เรื่อง ลิขิตรักข้ามดวงดาว จากซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง My Love from the Star และในปี 2564 ก็ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ตุรกีเรื่อง Ölene Kadar มาสร้างเป็นละครเรื่อง บาปอยุติธรรม แต่กระแสตอบรับกลับไม่ดีอย่างที่คิด เกมรักทรยศจึงเป็นความหวังใหม่ให้ลุ้นกันว่าช่อง 3 จะล้างอาถรรพ์รีเมกแล้วแป้กได้หรือเปล่า 

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

เธอคือพรหมลิขิต

 

ขณะที่ช่อง 3 ยังไม่มีดวงเรื่องรีเมกละครต่างประเทศ แต่กับช่อง one31 ดูเหมือนจะถูกโฉลกกับละครแนวนี้ด้วยการหยิบจับซีรีส์จากไต้หวันมาทำในเวอร์ชันไทยอย่าง เมีย 2018 ที่รีเมกจาก The Fierce Wife ก็ทำเรตติ้งตอนจบได้ถึง 6.4 และ เธอคือพรหมลิขิต ที่รีเมกจาก Fated to Love You ก็คว้าเรตติ้งตอนจบไปได้ถึง 4.4 แถมยังไปฮิตในฟิลิปปินส์ คว้าเรตติ้งแตะเลข 6 มากกว่าซีรีส์เกาหลีอีกต่างหาก

 

ส่วนหนึ่งก็อาจเพราะการเลือกหยิบซีรีส์ที่มีกระแสในหมู่คนไทยในระดับหนึ่งมาสร้าง แต่ก็ไม่ได้ฮิตเปรี้ยงปร้างขนาดที่คนคาดหวัง แล้วใส่บริบทละครไทยเข้าไป ทำให้ได้อรรถรสและฐานคนดูที่ไม่ได้ดูซีรีส์ต้นฉบับมากกว่า ซึ่งถ้าเทียบกับ ขอโทษที่รักเธอ ที่รีเมกจากซีรีส์เรื่องดังของเกาหลีใต้ Sorry, I love you และ รักซ่อนแค้น รีเมกจาก Love to Kill สองเรื่องหลังนี้กระแสค่อนข้างแผ่วกว่ามากทีเดียว

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

Princess Hours รักวุ่นๆ เจ้าหญิงจอมจุ้น 

 

ส่วนช่องโทรทัศน์ที่เรียกได้ว่าละครและซีรีส์เกินว่าครึ่งคืองานรีเมกจากต่างประเทศก็คือ True4U แม้จะไม่ค่อยมีกระแสในเมืองไทย แต่กลับไปฮิตในต่างประเทศ อย่างเช่น Full House วุ่นนักรักเต็มบ้าน ก็ฮิตมากๆ ในจีน ทำให้ ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล และ ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง กลายเป็นขวัญใจชาวจีนจนถึงทุกวันนี้ 

 

หรืออย่าง Princess Hours รักวุ่นๆ เจ้าหญิงจอมจุ้น ที่กระแสเงียบเชียบในไทย แต่กลับไปฮิตติดในชาร์ตละครของฟิลิปปินส์ กวาดเรตติ้งในระดับเลข 6 ไปเหมือนกัน 

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่อาจทำงานได้ไม่ดีที่หน้าจอทีวี แต่กลับไปได้ไกลในระบบสตรีมมิง อย่างเช่น VOICE สัมผัสเสียงมรณะ หรืออย่างงานจาก PPTV เรื่อง จังหวะหัวใจนายสะอาด งานรีเมกจากซีรีส์จีน The Fox’s Summer ก็ขึ้นอันดับหนึ่ง Netflix ของไทยอยู่เป็นสัปดาห์

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

VOICE สัมผัสเสียงมรณะ     

 

รีเมกซีรีส์ต่างประเทศ

แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว

 

อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากจำนวนละครไทยรีเมกจากต่างประเทศที่ปัจจุบันมีมากกว่า 30 เรื่อง ทั้งที่ออกอากาศทางโทรทัศน์และระบบสตรีมมิง ก็เรียกได้ว่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จยังนับว่าเป็นจำนวนน้อยอยู่ดี ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าละครรีเมกเรื่องใหม่ๆ ในอนาคตจะปรุงอรรถรสได้ถูกใจคนไทยและทำได้ดีตามที่คนดูคาดหวังมากน้อยแค่ไหน 

 

อ้างอิง:

FYI
  • บทภาพยนตร์ที่ไทยถูกซื้อไปรีเมกเวอร์ชันต่างประเทศ ขณะที่ละครไทยซื้อบทละครจากต่างประเทศ ก็มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่บทเข้าตาจนต่างชาติซื้อไปสร้างใหม่ในเวอร์ชันของตัวเอง เช่น

 

  1. Bangkok Dangerous ของ ออกไซด์ และ แดนนี แปง ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฮอลลีวูดซื้อไปรีเมกในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2551 โดยได้นักแสดงชื่อดังอย่าง นิโคลัส เคจ รับบทนำ 
  2. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ถูกนำไปสร้างใหม่ในเวอร์ชันฮอลลีวูดในชื่อ Shutter เมื่อปี 2551 จากความสำเร็จระดับนานาชาติของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งขายลิขสิทธิ์ไปฉาย 30 ประเทศทั่วโลก  
  3. 13 เกมสยอง ภาพยนตร์ที่ทำเงินในเมืองไทยได้เพียง 18 ล้านบาท แต่ด้วยพล็อตเรื่องที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องเกมท้าทายความโลภของมนุษย์ที่มาก่อน Squid Game ของเกาหลีใต้ ก็ถูกนำไปสร้างใหม่ในชื่อ 13 Sins เมื่อปี 2557  
  4. แฝด ถูกนำไปทำใหม่ในเวอร์ชันอินเดียถึง 2 ครั้ง คือ Chaarulatha ในภาษากันนาดาและทมิฬ ออกฉายในปี 2555 และเวอร์ชันบอลลีวูดในชื่อ Alone ในปี 2558 
  5. คิดถึงวิทยา ภาพยนตร์รักโรแมนติกของไทย ก็ได้รับการรีเมกในเวอร์ชันอินเดียในชื่อ Notebook ในปี 2562 
  6. ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ที่ทำรายได้ในเมืองไทยสูงถึง 330 ล้านบาท ถูกซื้อบทภาพยนตร์ไปสร้างในเวอร์ชันอินโดนีเซียในชื่อ Love You…Love You Not ออกฉายในปี 2558 
  7. แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ถูกนำไปสร้างเป็นเวอร์ชันจีนในชื่อ I Remember ออกฉายในปี 2563  
  8. ฉลาดเกมส์โกง ภาพยนตร์ไทยที่ทั้งกวาดรายได้และตระเวนฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก โดยทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในฮ่องกงและไต้หวัน ทั้งยังประสบความสำเร็จได้เข้าฉายกว่า 7,000 โรงภาพยนตร์ในจีน มีรายได้รวมจากการฉายทั่วโลกสูงถึง 889.73 ล้านบาท และกำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด 
  9. สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก ซื้อไปรีเมกเป็นซีรีส์เวอร์ชันจีนในชื่อ A Little Thing Called First Love 
  10. Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน กำลังจะถูกรีเมกในเวอร์ชันจีน 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X