‘วัลลภา ไตรโสรัส’ ทายาทคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี และเป็นผู้กุมอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์แสนล้าน บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ได้รับเลือกจาก Forbes Asia ติด 1 ใน 20 นักธุรกิจหญิงชั้นนำแห่งเอเชียประจำปี 2021 (Asia’s Power Businesswomen 2021) โดยถือเป็นชาวไทยเพียงคนเดียวที่ติดทำเนียบดังกล่าว
Forbes Asia อธิบายว่า เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่โควิดปะทุขึ้น และผู้นำธุรกิจของโลกต้องรับมือกับความเป็นจริงใหม่ บางคนพยายามดิ้นรนเพื่อให้บริษัทอยู่รอด แต่คนอื่นๆ เช่น ผู้นำธุรกิจ 20 รายในรายชื่อ Asia’s Power Businesswomen 2021 ได้ปรับตัวและเติบโต โดยคว้าโอกาสท่ามกลางความท้าทาย
รายชื่อในปีนี้มีผู้นำที่มาจากหลายหลายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่การธนาคารและไพรเวท อิควิตี้ ไปจนถึงการผลิต การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยี โดยเป็นการเลือกจากการจัดการธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 พันล้านบาท
“พวกเธอทั้งหมดได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ และในหลายกรณีได้ขยายธุรกิจของพวกเธอ แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิง 20 คนนี้อายุระหว่าง 30-70 ปีจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงให้เห็นว่าเพศและอายุไม่สามารถขัดขวางความสำเร็จได้”
‘วัลลภา’ ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารอาณาจักร AWC อย่างเต็มตัวในปี 2019 โดยนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 10 ตุลาคม 2019 พร้อมเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณชน (Initial Public Offering: IPO) การซื้อขาย IPO ในครั้งนั้น นับเป็นการซื้อขายหุ้น IPO ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มากกว่านั้นยังเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าระดมทุนกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท
ในรายงานของ Forbes Asia ระบุว่า เงินระดมทุนดังกล่าวถูกใช้ไปกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ ชำระหนี้ และปรับปรุง ในขณะที่การระบาดใหญ่ได้ลดอัตราการเข้าพักในโรงแรมของ AWC ลงเหลือ 23% ในปีที่แล้ว จาก 75% โดยเฉลี่ยในปี 2019 แต่วัลลภามั่นใจว่าจะมีการฟื้นตัวในที่สุดในขณะที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการฟื้นฟูการท่องเที่ยว
ในวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบ 2 ปีในการติดนามสกุลมหาชนของ AWC วัลลภาได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางต่อไปของธุรกิจว่า เมื่อเกิดโควิด ทำให้เกิดการ Blur-Mix-Merge ดังนั้น AWC จึงต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ไม่ว่าจะเป็นรีเทลภายใต้บริษัทจะมีการรีแบรนด์ใหม่ โดยจะเติมเรื่องการทำงานเข้าไป ส่วนโรงแรมนั้นได้มีการรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ ‘เวิร์กเคชัน’ หรือรูปแบบการเที่ยวพร้อมกับการทำงาน ซึ่งมีลูกค้ากว่า 20% ที่อยู่ในกลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีราว 2-3% ซึ่งพฤติกรรมคือจะพักอยู่นานเป็นเดือน ดังนั้น AWC จึงจะปรับโรงแรมให้เข้ากับรูปแบบการพักแบบดังกล่าว
“ทิศทางธุรกิจของ AWC จากนี้ บริษัทยังเดินหน้าลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ รวมถึงโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed and Merged) ที่ไม่ได้มีการแยกโรงแรม ค้าปลีก หรือตึกสำนักงาน ออฟฟิศอย่างชัดเจน ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่”
สำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า AWC ยังมีอีก 3 โปรเจกต์แลนด์มาร์ก ได้แก่ ASIATIQUE THE RIVERFRONT DESTINATION ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยโรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ รวมถึงริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิสเรสซิเดนส์ โดยมีแผนเปิดให้บริการเริ่มจากเปิดโซนค้าปลีกและสำนักงานในปี 2024
โครงการนี้ออกแบบโดย Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก ซึ่งมีผลงานชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นตึกเบิร์จ คาลิฟา ในดูไบ ซึ่งเป็นตึกสูงที่สุดของโลกในปัจจุบัน, ตึกจินเม่าทาวเวอร์ ที่โดดเด่นใจกลางมหานครเซี่ยงไฮ้ และเซ็นทรัลพาร์กทาวเวอร์ คอนโดมิเนียมไฮไรส์สุดหรูใจกลางนิวยอร์ก ซึ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยที่สูงที่สุดของโลกในปัจจุบัน
วัลลภาเล่าว่า “โครงการดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบ โดยในช่วงก่อนที่ได้ไปอเมริกาได้แวะเข้าไปที่ออฟฟิศของ AS+GG พบว่าพนักงานกว่า 50 คน กำลังทำงานนี้ให้กับเรา โดยโครงการนี้ต้องใช้เวลา 9 ปีถึงจะเสร็จสิ้นทั้งหมด ส่วนงบประมาณนั้นยังอยู่ในระหว่างการประเมิน”
โครงการที่ 2 AQUATIQUE DISTRICT PATTAYA โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา ประกอบด้วยแหล่งช้อปปิ้ง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์อีก 2 แบรนด์ และพื้นที่ค้าปลีก สุดท้ายคือ เวิ้งนาครเขษม ซึ่งพัฒนาให้เป็นโครงการพิเศษแบบ Mixed Development ทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และค้าปลีก ด้วยการลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของ AWC มีครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยโรงแรม 18 แห่ง, รีเทล 8 แห่ง, อาคารสำนักงาน 4 แห่ง, ค้าส่ง 2 แห่ง รวม 32 แห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 18 โครงการ ซึ่งจะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในพอร์ตโพลิโอของ AWC จะมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์รวม 50 แห่งในหลากหลายทำเลสำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเข้ามากุมบังเหียน AWC วัลลภาเคยเป็นนักวิเคราะห์การเงินกับบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ (เอเชีย-แปซิฟิก) ที่ฮ่องกง ก่อนจะหันดูแลงานบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2001 ได้รับหน้าที่กรรมการบริหาร บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ก่อนขึ้นรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ดูแลระบบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด
ด้านการศึกษา วัลลภาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การวางผังเมือง มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ที่ดิน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เจ้าสัวเจริญ’ เมิน AWC ขาดทุน 1.8 พันล้าน เตรียมทุ่มเกือบ 2 หมื่นล้าน ลุยเทกโอเวอร์โรงแรม ผุดแลนด์มาร์กใหม่รอท่องเที่ยวฟื้น
- เผยโฉมโรงแรมใน ‘เวิ้งนาครเขษม’ ที่ดินแปลงประวัติศาสตร์ของ ‘เจ้าสัวเจริญ’ เตรียมเปิดปี 2569 ภายใต้ชื่อ ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์’
อ้างอิง: