×

นี่ใช่ ‘แฮนด์บอล’ ที่เรารู้จักหรือเปล่า? เมื่อกฎใหม่กำลังทำลายเกมฟุตบอลที่เรารัก

28.09.2020
  • LOADING...

“เอาเกมฟุตบอลของพวกเรากลับมา” แกรี ลินิเกอร์ สุภาพบุรุษลูกหนังของวงการฟุตบอลอังกฤษทวีตข้อความนี้ขึ้นหลังจากได้เห็นเหตุการณ์ที่สนามท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม เมื่อผู้ตัดสินเช็กภาพจาก VAR และให้ลูกจุดโทษแก่นิวคาสเซิล ยูไนเต็ดในช่วงท้ายเกม

 

ทั้งๆ ที่มันค้านทั้งสายตาและความรู้สึกของแฟนฟุตบอลทั้งโลก เพราะในจังหวะนั้นเป็นจังหวะที่ เอริค ไดเออร์ พยายามขึ้นโหม่งตามปกติ และบอลก็ถูก แอนดี แคร์โรล โหม่งมาโดนแขนของเขาเอง โดยที่ทั้งตัวและหน้าอยู่กันคนละทิศกับลูกฟุตบอลด้วยซ้ำ

 

จังหวะนี้ไม่ว่าจะเป็นกูรูลูกหนังหรือแฟนฟุตบอลทั้งโลกต่างก็เห็นตรงกันว่า ดูอย่างไรก็ไม่ใช่การเจตนาทำแฮนด์บอลแน่ แต่ผู้ตัดสิน ปีเตอร์ แบงก์ส กลับให้เป็นลูกจุดโทษ จนทำให้ โชเซ มูรินโญ ผู้จัดการทีมสเปอร์สรับไม่ได้และเดินออกจากสนามทันที

 

“ผมไม่อยากพูดถึงมันอีก” มูรินโญปฏิเสธที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้หลังจบเกม

 

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น หากแต่มีเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นตลอด 3 สัปดาห์แรกของพรีเมียร์ลีก โดยในสัปดาห์ที่แล้วสเปอร์สก็เสียจุดโทษเหมือนกันจากการทำแฮนด์บอลของ แมตต์ โดเฮอร์ตี หรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับลูกแฮนด์บอลของ วิกเตอร์ ลินเดอเลิฟ

 

ก่อนหน้าเกมระหว่างสเปอร์สกับนิวคาสเซิลก็มีปัญหากรณีลูกจุดโทษที่คริสตัล พาเลซเสียให้กับเอฟเวอร์ตัน ในจังหวะที่บอลมาถูกแขนของ โจเอล วอร์ด และนำไปสู่ประตูตัดสินเกมที่ทำให้ทีมจากเมอร์ซีย์ไซด์คว้าชัยชนะในเกมนั้น

 

รอย ฮอดจ์สัน ผู้จัดการทีมดิ อีเกิลส์ กล่าวถึงเรื่องกฎแฮนด์บอลใหม่ด้วยความผิดหวังซ้ำอีกครั้ง (หลังจากก่อนหน้านี้ก็เคยออกมาวิพากษ์ไปแล้ว) ว่า “ผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใดพวกเราในวงการฟุตบอล ซึ่งตอนนี้ผมกำลังพูดถึงทั้งพรีเมียร์ลีก ทั้งผู้ตัดสิน ผู้จัดการทีม โค้ช และนักฟุตบอล ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมเราถึงยอมให้กฎนี้ถึงมีผลบังคับใช้ได้

 

“ผมต้องขออนุญาตเรียนตรงๆ สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ มันได้ทำลายความสุขในเกมฟุตบอลของผมไปอย่างสิ้นเชิง”

 

ขณะที่ทางด้าน สตีฟ บรูซ ผู้จัดการทีมนิวคาสเซิล ซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากจุดโทษทำให้เดอะ แม็กพายส์รอดพ้นจากความปราชัยแบบเหลือเชื่อก็ยอมรับว่า บางทีเราอาจจะหลงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของกฎแฮนด์บอล

 

“กฎแฮนด์บอลมันมีมาเป็นร้อยปีแล้ว ถ้ามันทำโดยเจตนาก็ไม่มีปัญหา เพียงแต่มันต้องชัดเจนไม่มีข้อกังขา เรากำลังหลงประเด็นเรื่องนี้ และมันกำลังทำให้กฎนี้สูญเสียความพิเศษ”

 

อย่างไรก็ดี มันเกิดอะไรขึ้นกับกฎที่ความจริงแล้วไม่น่าจะมีอะไรยากหรือซับซ้อนเลยกันแน่?

 

 

แค่บอลทูแฮนด์ก็แฮนด์บอลได้ – การบีบให้ผู้ตัดสินตีความใหม่โดยผู้คุมกฎ IFAB

ในความเข้าใจแต่เดิมมา กฎแฮนด์บอลนั้นมีความง่ายที่สุดแทบจะกฎหนึ่งในเกมฟุตบอล (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการอธิบายกฎล้ำหน้าให้คนที่ไม่เคยรู้จักฟุตบอลได้เข้าใจ) 

 

รอย ฮอดจ์สัน ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมประสบการณ์สูงที่ผ่านการทำงานมามากมายอธิบายกฎนี้ว่า “สำหรับผมแฮนด์บอลเป็นกฎที่ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย จะเป็นแฮนด์บอลเมื่อคุณจงใจใช้แขนเพื่อหยุดบอลที่กำลังจะเป็นประตูหรือนำไปสู่การได้เปรียบ

 

“แต่ถ้าบอลมาถูกแขนเราโดยที่เราทำอะไรไม่ได้ มันก็ไม่เป็นแฮนด์บอล”

 

แต่ในฤดูกาลนี้ (2020-21) กฎแฮนด์บอลได้มีการตีความใหม่ โดยทางด้านผู้คุมกฎอย่าง International Football Association Board (IFAB) ที่ต้องการขจัดความคลุมเครือในเรื่องของการทำแฮนด์บอลโดยไม่ตั้งใจ (Accidental Handball)

 

ตามการตีความปัจจุบัน ผู้เล่นจะถูกตัดสินว่าทำแฮนด์บอลต่อเมื่อ

  • มือหรือแขนยกห่างจากลำตัวและอยู่นอก ‘เส้นลำตัว’ (Body Line)
  • ผู้เล่นอยู่ในวิถีของลูกฟุตบอลอย่างชัดเจน
  • บอลเดินทางเป็นระยะทางหนึ่ง
  • บอลโดนมือหรือแขนที่ยกขึ้นเหนือไหล่อย่างชัดเจน
  • ผู้เล่นล้มลงโดยที่มือหรือแขนมีการยืดเหยียดเป็นแนวนอนหรือแนวตั้งโดยห่างจากลำตัว
  • บอลที่แฉลบมาแต่ไม่มีความแตกต่างชัดเจนในวิถี แล้วมาโดนมือหรือแขนซึ่งยืดเหยียดห่างออกจากลำตัว และ/หรือยกขึ้นเหนือไหล่

 

หรือหากจะให้สรุปง่ายๆ คือ ถ้าบอลมาโดนมือหรือแขนในตำแหน่งที่ต่ำกว่า ‘ชายแขนเสื้อ’ โดยที่มือหรือแขนไม่ได้แนบชิดลำตัว ก็จะถูกนับเป็นแฮนด์บอลทั้งหมด 

 

เรื่องนี้ทางด้านพรีเมียร์ลีกเองมีการเตือนก่อนฤดูกาลจะเริ่มแล้วว่า ด้วยกฎใหม่นี้มีโอกาสที่จะได้เห็นการโดนจับแฮนด์บอลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในลีกระดับชั้นนำอื่นๆ ก็มีการเคร่งครัดในเรื่องนี้มากอยู่แล้ว

 

โดยในฤดูกาลที่แล้วลาลีกามีการได้จุดโทษจากแฮนด์บอลถึง 60 ครั้ง ขณะที่เซเรีย อามีจุดโทษจากแฮนด์บอลมากถึง 50 ครั้ง ส่วนพรีเมียร์ลีกมีการได้จุดโทษจากแฮนด์บอลแค่ 19 ครั้งเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี พารากราฟข้างบนนั่นเป็นการตีความสำหรับ ‘ผู้เล่นเกมรับ’ เท่านั้น

 

สำหรับ ‘ผู้เล่นเกมรุก’ ก็มีการตีความใหม่ที่แตกต่างออกไปอีก จากเดิมในฤดูกาลที่หากบอลมาโดนมือหรือแขน ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ก็จะนับเป็นแฮนด์บอลหมด 

 

แต่ในปัจจุบันหากบอลมาโดนมือหรือแขนแล้วไปถึงผู้เล่นอีกคนและทำประตู จึงจะนับเป็นการทำแฮนด์บอล แต่หากบอลมาโดนมือหรือแขนแล้วไม่ได้นำไปสู่จังหวะที่ได้ประตูทันที โดยบอลมีการเดินทาง (เช่น ผ่านบอลหรือเลี้ยงบอล) ก่อนจะนำไปสู่ประตูหรือโอกาสทำประตู จะไม่ถือว่าเป็นการทำแฮนด์บอล

 

กรณีตัวอย่างของเรื่องกฎแฮนด์บอลในผู้เล่นเกมรุกใหม่ เห็นได้ชัดเจนในเกมที่เชลซี ได้ประตูไล่ตีเสมอไบรท์ตัน ซึ่งจังหวะปัญหาเกิดขึ้นที่บอลมาถูกแขนของ ไค ฮาเวิร์ตซ์ ก่อนจะไปเข้าทาง เมสัน เมาท์ ได้ยิงไปติดเซฟ และเป็นทางด้าน แทมมี อับราฮัม ซ้ำดาบสองให้ไล่ตามทันที 3-3

 

และปัญหาในเรื่องของกฎใหม่นี้ถูกซ้ำเติมให้หนักเข้าไปอีก เมื่อมีการนำ VAR มาใช้ช่วยตัดสิน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังเละเทะยิ่งกว่าเดิมด้วย

 

วิกเตอร์ ลินเดอเลิฟ เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ถูกจับแฮนด์บอลจากการตีความกฎใหม่

 

การเรียกร้องให้ทบทวนกฎแฮนด์บอลใหม่

เรื่องของกฎแฮนด์บอลใหม่นี้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลายและหนักหน่วง

 

โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครกล่าวโทษผู้ตัดสินในสนามมากนัก เช่นเดียวกับผู้ตัดสิน VAR ที่เหมือนจะรอดตัวไป เพราะส่วนใหญ่เข้าใจในการทำหน้าที่ว่าเป็นการตัดสินตาม ‘กฎ’ ที่มีการกำหนดไว้

 

กฎว่าอย่างไรก็ปฏิบัติตามอย่างนั้น

 

ดังนั้นฝ่ายที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ IFAB ที่ถูกมองว่าสร้างความสับสนให้แก่กฎแฮนด์บอลด้วยความพยายามที่จะตีกรอบให้แก่การตีความของคำว่า ‘เจตนา’ 

 

ความจริงมันก็ไม่ใช่เจตนาที่ไม่ดีของ IFAB (ซึ่งหลังปี 2016 เป็นต้นมามีการปรับเปลี่ยนกฎหลายอย่าง และบางอันก็ช่วยทำให้เกมสนุกขึ้น เช่น การอนุญาตให้ผู้เล่นเข้าไปในกรอบเขตโทษได้ในจังหวะเตะจากประตู ทำให้เกิดการเซ็ตบอลตั้งแต่แดนหลัง) 

 

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีก (และลาลีกาในเกมแรกของเรอัล มาดริดที่ได้ลูกจุดโทษในช่วงท้ายเกมจากแฮนด์บอล) ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎนี้ใหม่

 

หรืออย่างน้อยทำอะไรสักอย่างให้การตัดสินดีขึ้น ชัดเจนขึ้น มีมาตรฐานขึ้น

 

ให้มันขาวสะอาดอย่างที่มันควรจะเป็น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • ในเกมพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้จนถึงคืนวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน มีการตัดสินจุดโทษจากการทำแฮนด์บอลรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ขณะที่ตลอดฤดูกาล 2019-20 มีแค่ 19 ครั้งทั้งฤดูกาล
  • IFAB ก่อตั้งเมื่อปี 1886 จากสมาคมฟุตบอล 4 ชาติคือ อังกฤษ, ไอร์แลนด์ (ก่อนจะแบ่งเป็นไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ 35 ปี), เวลส์ และสกอตแลนด์ โดยมีขึ้นเพื่อร่างกฎในการเล่นฟุตบอลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising