ข่าวการปลดคนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังมีมาให้เห็นตลอด ล่าสุด DealStreetAsia รายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าวหลายรายที่ระบุว่า foodpanda ได้ปลดพนักงานในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์
บริษัทซึ่งเป็นเจ้าของโดย Delivery Hero ของเยอรมนีประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงานประมาณ 150 คน หรือ 20% ของพนักงานฟิลิปปินส์ ซึ่งนี่เป็นตลาดหลักแห่งหนึ่งของ foodpanda ควบคู่ไปกับมาเลเซีย
แหล่งข่าวอีกรายก็ได้บอกว่า ‘ศิริภา จึงสวัสดิ์’ กรรมการผู้จัดการของ foodpanda ประเทศไทย ได้ประกาศปลดพนักงานเช่นกัน โดยพนักงานหลายคนได้ถูกเรียกมาเพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาใน foodpanda
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พายุโหมใส่ ‘บริษัทแม่ foodpanda’ หุ้นร่วงจนราคาต่ำกว่า IPO แถมมาร์เก็ตแคปหายไปแล้ว 75% หรือ 6.6 แสนล้านบาท
- Grab ถอดใจ ‘ธุรกิจเดลิเวอรี’ น่าจะยังไม่ถึงจุด ‘คุ้มทุน’ ภายในปี 2023 พร้อมเร่งทำกำไรท่ามกลางสายตาที่จับจ้องของนักลงทุน
- opee ประกาศ ‘ปลดพนักงานจำนวนมาก’ ในหลายประเทศพร้อมกัน ที่น่าตกใจคือทีม ShopeeFood และ ShopeePay ของไทยถูกปลด 50%
ศิริภาเป็นแม่ทัพคนใหม่ของ foodpanda ประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ในแวดวงมาหลากหลาย เช่น Ant Group, Uber และ HappyFresh เป็นต้น โดยเป็นการรับตำแหน่งต่อจาก ‘อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์’ ผู้ร่วมก่อตั้งที่ดูแลมาตั้งแต่ปี 2012 ก่อนจะประกาศส่งต่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายน 2022 ซึ่ง foodpanda ได้ทำธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 10 พอดี
“แม้ foodpanda จะถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีอันดับต้นๆ แต่กลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการแข่งขันและการรับมือกับช่วงหลังโควิด” แม่ทัพคนใหม่ของ foodpanda ประเทศไทยกล่าว
การปลดพนักยังไม่หมดเท่านั้น ที่สำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ก็มีข่าวว่าจะปลดคนราว 5% ด้วยกัน
เจค็อบ แองเจเล ซีอีโอประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ foodpanda ได้กล่าวกับพนักงานในเดือนกรกฎาคมเกี่ยวกับผลการดำเนินว่า ธุรกิจยังดำเนินไปไม่ค่อยดี นั่นทำให้ต้องมีมาตรการลดต้นทุนในระยะสั้น
“ด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของ Delivery Hero ในการทำให้ EBITDA เป็นบวก ตอนนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลดต้นทุน และเพื่อนำไปสู่ความสามารถในการทำกำไร ดังนั้นเราจึงตัดสินใจอย่างเจ็บปวดในการลดขนาดบางทีม” โฆษกของ foodpanda ยืนยันในแถลงการณ์ทางอีเมลที่ส่งถึง DealStreetAsia
“เรากำลังสนับสนุนพนักงานที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือพวกเขาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ผ่านโครงการช่วยเหลือพนักงาน และขยายเวลาการประกันและผลประโยชน์” โฆษกกล่าวเสริม
foodpanda ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านอาหาร จัดส่งของชำ และส่งสินค้าด่วน เป็นบริษัทย่อยของ Delivery Hero ยักษ์สั่งอาหารออนไลน์ของเยอรมนี ดำเนินงานในกว่า 400 เมืองในตลาดเอเชีย 11 แห่ง รวมถึงสิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย ปากีสถาน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ลาว กัมพูชา และเมียนมา
ธุรกิจในเอเชียสร้างรายได้ 4.18 พันล้านยูโรในครึ่งแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ EBITDA หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ยัง ‘ติดลบ’ อยู่ 323 ล้านยูโร ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 350 ล้านยูโร
ก่อนหน้านี้แองเจเลบอกถึงเป้าหมายธุรกิจอย่างชัดเจนในการให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า “foodpanda ยังคงมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจหลักเพื่อบรรลุผลกำไร”
โดย foodpanda ใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างจากคู่แข่งระดับภูมิภาค เช่น Grab และ GoTo ซึ่งขยายไปสู่ธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็น ‘Superapps’ โดยได้ขยายธุรกิจจากการเรียกรถ เป็นบริการส่งอาหารและบริการทางการเงิน ที่ใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าและข้อมูลเพื่อนำเสนอบริการใหม่ๆ แต่ก็มาพร้อมกับการ ‘เผาเงิน’ เพื่อจูงใจลูกค้า
กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2022 ของ Grab ยังขาดทุนอยู่กว่า 572 ล้านดอลลาร์ จนถึงขั้นถอดใจว่า ‘ธุรกิจเดลิเวอรี’ น่าจะยังไม่ถึงจุด ‘คุ้มทุน’ ในปี 2023
“เราดำเนินกิจการในตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติมาก และเราเห็นคู่แข่งจำนวนมากเข้าๆ ออกๆ มาหลายปีแล้ว” แองเจเลกล่าว พร้อมกับเสริมว่า แม้ลูกค้าจะออกมากินข้าวที่ร้านได้แล้ว แต่บริการเดลิเวอรียังมีความต้องการอยู่ อย่าง “ตลาดสิงคโปร์ยังสามารถเติบโตได้อีกประมาณ 5 เท่า”
foodpanda จะปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงวิธีการจัดการคำสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ผ่านการใช้ AI เข้ามาช่วยเหลือ
มีการประเมินว่าตลาดจัดส่งอาหารออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตสู่ระดับเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2022 ขณะที่รายงานของ Momentum Works ระบุว่าปีที่ผ่านมา Grab มีส่วนแบ่งมากที่สุดด้วยตัวเลข 49% รองลงมาคือ foodpanda อยู่ที่ 22%
อ้างอิง: