×

ข้าวยากหมากแพง! รอบ 10 ปีราคาอาหารปรับขึ้นถึง 84% ค่าครองชีพภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ สูงสุด

โดย THE STANDARD TEAM
26.04.2018
  • LOADING...

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดผลวิจัยเงินเฟ้อในไทย พบ 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าอาหารปรับราคาขึ้นกว่า 84% ส่วนค่าครองชีพประชาชนในภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ สูงสุด

 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดงานวิจัยหัวข้อ ‘จากตลาดสดถึงซูเปอร์มาร์เก็ต 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศไทย เข้าใจพฤติกรรมการตั้งราคาผ่าน Big Data’ ออกมาเมื่อวันพุธที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา

 

โดยทีมวิจัย ปิติ ดิษยทัต (ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์), ทศพล อภัยทาน (หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านเศรษฐกิจ) และพิม มโนพิโมกษ์ (นักวิจัยชำนาญการ) ได้ศึกษาข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าและบริการกว่า 10,000 รายการจากทั่วประเทศตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่รวบรวมโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง THE STANDARD ได้สรุปเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

  1. 10 ปีที่ผ่านมา อาหารปรับราคาเพิ่มสูงสุด 84%
    ราคาสินค้าหมวดต่างๆ ในช่วงระหว่างปี 2549-2559 ระดับราคาผู้บริโภคโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นราว 26% โดยสินค้าหมวดอาหารมีการปรับราคาเพิ่มมากขึ้น 84% ตรงข้ามกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ (-31%), โทรศัพท์มือถือ (-25%) หรือคอมพิวเตอร์ (-15%) ที่มีการปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่องและถูกกว่า 10 ปีที่แล้วค่อนข้างมาก แต่เพราะสินค้าอุปโภคเหล่านี้ไม่ได้เป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องซื้อใหม่ทุกวัน ผู้บริโภคจึงอาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง

 

  1. สินค้าไทยปรับราคาไม่บ่อย เฉลี่ย 6 เดือน แต่ปรับทีก็ขึ้นสูง!

จากการศึกษาการปรับราคาจำหน่ายสินค้า 445 ชนิดพบว่า ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาการปรับราคาจะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน โดยสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายสามารถคงราคาเดิมไว้ได้นานสูงสุดถึง 13 เดือน ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มสุขภาพ ของใช้ส่วนตัวและกลุ่มบันเทิงการศึกษาที่มีระยะเวลาปรับราคาสินค้าเท่ากันที่ 8 เดือน ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มกลับเป็นสินค้าที่มีระยะเวลาปรับราคาสินค้าบ่อยและสั้นสุดที่ 5 เดือนเท่านั้น (หมายความว่าทุก 5 เดือนจะปรับราคาสินค้า)

 

ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังชี้อีกด้วยว่าความถี่และระยะเวลาการปรับราคาสินค้าจะสะท้อนตามธรรมชาติของสินค้านั้นๆ เช่น วัตถุดิบและการแข่งขันในตลาด ซึ่งจากการเปรียบเทียบกับงานศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิลหรือชิลีพบว่า ไทยใช้ระยะเวลาคงราคาสินค้าได้นานกว่าเกือบๆ 4 เดือนเต็ม แต่ยังต่ำกว่าประเทศในยุโรปเช่น สหราชอาณาจักรที่มีค่าเฉลี่ยปรับราคาสินค้าทุกๆ 10 เดือน

 

ถึงแม้จะปรับราคาสินค้าไม่บ่อย แต่ปรับแต่ละที สัดส่วนราคาที่ปรับขึ้นก็เพิ่มสูงพอสมควร โดยทั่วไปการขึ้นราคาแต่ละครั้งจะปรับขึ้นเฉลี่ย 10.37% ต่างจากการปรับลดราคาที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 7.74% และเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อรวมในแต่ละเดือน (เฉลี่ย 0.32% ต่อเดือน) พบว่า การปรับราคาในระดับสินค้าจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยสินค้าหมวดบันเทิงและการศึกษามีค่าเฉลี่ยการปรับราคาสูงที่สุดถึง 29.78% ส่วนสินค้าจำพวกยาสูบและสุรา มีค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นราคาน้อยสุดเพียง 4.96%

 

  1. ค่าครองชีพภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ สูงสุด
    ทีมวิจัยได้ใช้ราคาแกงเขียวหวานปรุงสำเร็จบรรจุถุงทั่วประเทศมาใช้จำแนกค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ พบว่าแกงเขียวหวานในภาคใต้และภาคอีสานบางจังหวัดมีราคาสูงกว่าในพื้นที่อื่นๆ เป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ ค่าแรงและการขนส่ง เป็นต้น

ข้อมูลระดับราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่ยังสามารถนำมาวัดและเปรียบเทียบค่าครองชีพระหว่างภาคแบบคร่าวๆ พบว่า สิ้นปี 2017 ที่ผ่านมา ภาคใต้ตอนบน เช่น ภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี มีค่าครองชีพสูงที่สุด (9,000 บาทต่อเดือน) ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างเช่น ตาก, นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ มีค่าครองชีพต่ำสุด (8,000 บาทต่อเดือน) ต่างกันราว 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่าครองชีพประชาชนเฉลี่ยทั้งประเทศตลอด 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ราว 8,500 บาทต่อเดือน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising