×

เงินบาทอ่อนค่า ดันหุ้น ‘ส่งออกอาหาร-เกษตร’ รับอานิสงส์ โบรกแนะลงทุนแค่ช่วงสั้น เหตุกำลังซื้อส่อแววอ่อนแอทั่วโลก

25.04.2022
  • LOADING...
เงินบาทอ่อนค่า

หุ้นกลุ่มส่งออกอาหารและเกษตรเตรียมรับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง และจ่อทะลุแนวต้าน 34 บาทต่อดอลลาร์ นักวิเคราะห์แนะนำลงทุนระยะสั้นตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเท่านั้น เนื่องจากประเมินว่ากำลังซื้อทุกประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง 

 

การเคลื่อนไหวของเงินบาทล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 ปิดตลาดที่ระดับ 33.97-33.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2560

 

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน ด้านกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยนต่อดอลลาร์ 

 

โดยก่อนหน้านี้ค่าเงินเยนต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงรวดเร็วถึงราว 5.4% ภายใน 1 เดือน มาอยู่ที่ 128.28 เยนต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกับสหรัฐฯ 

 

โดยสหรัฐฯ จะเห็นการให้แนวทางที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นที่ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นห่างกันมากขึ้น นำไปสู่การขายเงินเยนแลกเป็นดอลลาร์สหรัฐ (Yen Carry Trade)

 

ทีมกลยุทธ์ บล.โนมูระ ได้ใช้ 2 เกณฑ์พิจารณาว่าเกิดภาวะดังกล่าวในอดีต คือ ค่าเงินดอลลาร์ต่อเยน และส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะ Yen Carry Trade โดยเปลี่ยนเป็นคู่ประเทศระหว่างสหรัฐฯ และไทย จะพบว่าทิศทางค่าเงินบาทค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับเยนเช่นเดียวกัน คือ ค่าเงินจะอ่อนค่าล่วงหน้าก่อนที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่าง 2 ประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 

 

กรภัทรกล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว กลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท คือ กลุ่มที่ฟื้นตัวจากกำลังซื้อต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล, กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มอาหาร, กลุ่มท่องเที่ยว 

 

ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ คือ กลุ่มที่มีหุ้นที่มีรายได้เป็นเงินเยน (MCS) และหุ้นกลุ่มเหล็ก รวมถึงกลุ่มที่ได้รับจิตวิทยาลบ เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มยานยนต์ 

 

‘เอเซีย พลัส’ แนะเกาะติดนโยบาย ธปท. 

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ค่าเงินบาทไทยที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเร็วๆ นี้ สาเหตุหลักมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้นโยบายการเงินตึงตัว จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก รวมถึงลดขนาดงบดุล ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ใช้นโยบายการเงินตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ก็จะเผชิญกับค่าเงินที่อ่อนค่าลง รวมถึงไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งยืนยันเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปและไม่มีแนวทางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 

 

“ถ้าไทยยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยถ่างขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ทำให้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งตัวแปรที่ทำให้ค่าเงินบาทหยุดอ่อนค่าหรือเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนไหวก็คือ ธปท. เช่น การเข้าแทรกแซงเงินบาท การใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตลาดจะจับตาอย่างต่อเนื่อง เพราะตอนนี้มีตัวแปรเรื่องเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเข้ามากดดันอีก” 

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินแนวต้านค่าเงินบาทรอบนี้ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวต้านที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายนและต้นเดือนธันวาคม 2564 

 

เทิดศักดิ์กล่าวว่า หุ้นที่ได้รับอานิสงสจากเงินบาทอ่อนค่า คือ กลุ่มส่งออก แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวทั่วทั้งโลก กลุ่มส่งออกจึงได้รับอานิสงส์เชิงบวกเฉพาะธุรกิจเท่านั้น ประกอบด้วยธุรกิจส่งออกอาหาร และสินค้าการเกษตร ส่วนธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อาจได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนไม่มากนัก 

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่าอีกด้วย 

 

แนะลงทุนระยะสั้น หลังปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยน

 

ทั้งนี้ แนะนำให้ลงทุนระยะสั้นตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากกว่า เนื่อจากการอ่อนค่าครั้งนี้เกิดจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศใหญ่เป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยแต่อย่างใด 

 

ขณะที่ ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นที่ได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าคือกลุ่มส่งออก แต่รอบนี้ต้องดูเป็นรายธุรกิจว่าส่งออกอะไร เนื่องจากเศรษฐกิจของหลายประเทศที่เป็นปลายทางการส่งออกของไทยกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจขาลง 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าหุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์อย่างโดดเด่นคือ ผู้ส่งออกอาหาร รองมาคือ เรือขนส่ง และท่องเที่ยว ส่วนผู้ส่งออกสินค้าคงทน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะได้รับอานิสงส์จำกัด 

 

“เร็วๆ นี้ หุ้นส่งออกก็ปรับตัวขึ้นมาตอบรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไปแล้ว อีกกลุ่มที่น่าจับตาคือเรือขนส่ง ประเภทเรือเทกอง เนื่องจากมีความต้องการสูงขึ้น รวมถึงผู้ส่งออกต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ หลังจากเกิดการคว่ำบาตรรัสเซียของพันธมิตรชาติตะวันตกด้วย” ณัฐพลกล่าว 

 

อีกกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ทางอ้อม คือ กลุ่มท่องเที่ยว ที่จะได้อานิสงส์จากการที่นักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วเหมือนช่วงต้นปี เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเปิดประเทศอย่างจริงจัง ทำให้มีความต้องการเงินบาทมากขึ้น 

 

ขณะที่ นิพนธ์ สุวรรณประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการสถาบันการลงทุน QIQP บล.ไอร่า กล่าวว่า กรณีเงินบาทอ่อนค่า ปกติแล้วจะส่งผลดีต่อกลุ่มส่งออก แต่รอบนี้สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่ามาจากเงินดอลลาร์แข็งค่าจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ซึ่งมองว่าการอ่อนค่าจะไม่นานและไม่รุนแรง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจจะสามารถบริหารจัดการได้ เช่น การทำประกันป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

 

นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจของหลายประเทศที่เป็นปลายทางส่งออกยังไม่ดีนัก จึงแนะนำให้ลงทุนหุ้นกลุ่มส่งออกระยะสั้นตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ส่วนในเชิงปัจจัยพื้นฐาน เชื่อว่าไม่มีธุรกิจไหนได้รับอานิสงส์จากปัจจัยนี้อย่างมีนัยสำคัญ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising