สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สินทรัพย์การเงินต่างๆ เริ่มพบกับแรงขายทำกำไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังปรับตัวขึ้นได้ต่อ
อันดับผลตอบแทนของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง คริปโตยังคงรั้งอันดับหนึ่ง แม้จะทรงตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังบวก 35-40% จากต้นปี หุ้นฮ่องกง (Hang Seng Index) กลับมาหลังเปิดตรุษจีนอย่างโดดเด่น ทำผลตอบแทนไปแล้วถึง 15% จากปลายปี ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (MSCI ACWI Consumer Discretionary) และหุ้นญี่ปุ่นทั้ง Nikkei 225 และ TOPIX เป็นกลุ่มการลงทุนที่ฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับระดับความผันผวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
ในสัปดาห์นี้ ธีมการลงทุนหลักของตลาดจะพบกับบททดสอบสำคัญ เมื่อมีทั้งการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ และการประชุมนโยบายการเงินของทั้ง Fed, BOE และ ECB รออยู่
สำคัญที่สุดคือธีม Fed Pause ไม่ใช่แค่ 0.25% หรือ 0.50% แต่รวมไปถึงมุมมองของ Fed ว่าจะ Hike ต่อหรือ Pause แค่นี้
มุมมองของตลาดปัจจุบันคือ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ไปจบที่ 4.75-5.00% ในช่วงปลายไตรมาสแรก การประชุม FOMC ที่จะรู้ผลในเช้าตรู่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของไทย จึงมีโอกาสส่งผลกับตลาดได้หลายแบบ
Base Case ของตลาดคือ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และส่งสัญญาณนโยบายการเงินผ่อนคลาย สำหรับผมมองว่าเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย และอาจเป็น Best Case สำหรับผม เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงกว่า 5% ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ถ้าจะเป็นไปได้อาจต้องรอให้เห็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรคืนวันศุกร์ที่จะถึงก่อน (3 กุมภาพันธ์)
Worst Case แน่นอนว่าคือการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ของ Fed ผมมองว่าอาจส่งผลให้หุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานลงได้ถึง 5-7%
ส่วนเหตุการณ์ที่ผมมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด คือการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่ส่งสัญญาณนโยบายการเงินเข้มงวดต่อ ด้วยการเน้นย้ำไปที่ตัวแปรสำคัญอย่างค่าจ้าง หรือความร้อนแรงของตลาดแรงงาน อาจให้ตลาดกังวลว่า Fed จะไม่ Pause และขายทำกำไรบอนด์ ไปจนถึงหุ้นที่ปรับตัวขึ้น
ส่วนการประชุมธนาคารกลางอื่นๆ ที่น่าสนใจมีทั้ง BOE และ ECB ที่จะประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์
ตลาดคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะขยับดอกเบี้ยนโยบาย Bank of England Bank Rate ขึ้นจาก 3.50% ไปเป็น 4.00% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ECB Deposit Facility Rate จาก 2.00% ไปที่ 2.50% คาดว่าจะส่งผลบวกกับค่าเงิน GBP และ EUR ไปพร้อมกัน
สำหรับผม ธีมลงทุนที่ต้องระวังมากขึ้นคือ Next-Gen Tech
กรณีที่ต้องเตรียมพร้อมมากที่สุดคือการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จากผลการประชุมธนาคารกลางทั่วโลก และความผันผวนที่คาดว่าจะสูงขึ้นมาพร้อมกัน
ในเชิงพื้นฐาน แม้ Next-Generation Tech จะชนะตลาดได้ในช่วงสั้น และมีโอกาสการเติบโตของรายได้สูงที่สุด แต่ในระยะกลางระดับ Long-Term P/E ของดัชนี MSCI ACWI IMI Innovation Index ดีดตัวขึ้นมาถึง 48x เท่ากับระดับสูงสุดที่เคยปรับฐานลงในเดือนสิงหาคมปีก่อน Upside ต่อจากนี้อาจไม่มากถ้า Fed Pause ไม่เกิดขึ้นจริง
ธีมสุดท้าย เป็นการรวมตัวของจีน ยุโรป และ EM กลายเป็น Rest of World หรือ ROW ที่คาดว่าจะเป็น
กลุ่ม ROW มีความเหมือนกันคือเป็นตัวแทนของการลงทุนนอกสหรัฐฯ ที่มักได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ดอลลาร์อ่อน และวัฏจักรเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น
สำหรับจีนเราจะเริ่มเห็นการค้าและการเดินทางที่กลับตัวเป็นปัจจัยหนุน ฝั่งยุโรปจุดเด่นในช่วงนี้คือการรายงานผลประกอบปี 2022 ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นโดยรวม 15% จากปี 2021 ที่รายได้หดตัวถึง 22% ส่วน EM คาดว่าจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมัน และดอลลาร์ที่อ่อนค่า
เป็นการผลมผสานธีมลงทุนที่ใช้เหตุผลที่ใกล้เคียงกันแต่สามารถกระจายการลงทุนเกินกว่าแค่จีนได้
สำหรับสัปดาห์ที่ 30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2023
นอกจากนโยบายการเงินที่เป็นจุดสนใจหลักของตลาดแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจก็มีทั้งสัปดาห์
วันอังคารที่ 31 แนะนำจับตาไปที่ Manufacturing and Non-Manufacturing PMI ของจีนเดือนมกราคม ที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 50 จุดได้ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะที่ BOP C/A Balance ของไทย คาดว่าจะกลับมาเป็นเกินดุล 500 ล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนที่ขาดดุล 445 ล้านดอลลาร์
ตัวเลขสำคัญที่สุดคือ การรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์
ตลาดคาดว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Change in Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 1.85 แสนตำแหน่ง การว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.5-3.6% และรายได้เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวขึ้นต่อ 0.3%MoM หรือคิดเป็น 4.3%YoY
ในมุมมองของผม การเปลี่ยนแปลงของตลาดในสัปดาห์จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางของตลาดในอนาคตแน่นอน
FOMC เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้นโยบายการเงินอาจไม่ผ่อนคลายเร็วอยางที่ตลาดหวัง แต่เศรษฐกิจก็แข็งแกร่งกว่าที่หลายฝ่ายคาด โอกาสที่ปี 2023 จะเป็นปีที่ดีของการลงทุนยังมีอยู่มากครับ