×

จับตามติ กสทช. ควบรวมเน็ตบ้าน ‘AIS-3BB’ หรือไม่ สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นหนังสือค้าน หวั่นทำตลาดผูกขาด

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่บอร์ด กสทช. มีการกำหนดวันนี้เป็นวาระการประชุมพิเศษเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB)

 

ทว่า ก่อนหน้านี้ 7 วัน ทาง กสทช. ใช้เวลาทบทวนผลการศึกษาการควบรวมที่ปรึกษาต่างประเทศและมหาวิทยาลัย โดยวันนี้จะเป็นการลงมติตัดสินดีลดังกล่าว 

 

สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นคัดค้านควบรวม AIS-3BB

 

ในช่วงเช้า เวลา 07.30-08.30 น. ก่อนการประชุมดังกล่าว สุภิญญา กลางณรงค์ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมดังกล่าว

 

สุภิญญาระบุว่า เกิดจากความกังวลในการพิจารณาใช้อำนาจของ กสทช. ที่ระบุว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจที่จะให้เอกชนควบรวม ทำได้เพียงมีมติรับทราบ และกำหนดเงื่อนไขเท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดได้  

 

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมระหว่าง AWN ในเครือ AIS และ 3BB แล้วพบว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ อย่างผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านจะแตกต่างกันตามพื้นที่ 

 

โดยผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นราว 9.5-22.9% ในพื้นที่ อีกทั้งบริษัทแข่งขันทับซ้อนกันและมีคู่แข่งน้อยราย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มพ่วงบริการอินเทอร์เน็ตบ้านกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งเมื่อคู่แข่งในตลาดมือถือลดลงเหลือแค่ 2 ค่ายใหญ่ที่มีสัดส่วนในตลาดและศักยภาพในการแข่งขันสูงจะทำคู่แข่งรายเล็กอื่นๆ ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านถูกลดความสามารถในการแข่งขันลง

 

โดยมีรายละเอียดระบุว่า การดำเนินการของ กสทช. ประเด็นการชี้นำและความไม่เป็นกลางของประธาน กสทช. การผูกขาดตลาดจากผู้เล่นที่เป็นผู้ให้บริการน้อยลง และอาจส่งผลให้ค่าบริการแพงขึ้น

 

เรียกร้องให้ กสทช. ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

 

ขณะที่วานนี้ (9 พฤศจิกายน) ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาเรียกร้องให้ กสทช. ทำตามหน้าที่ของตนเองในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพราะ กสทช. มีอำนาจเต็มในการพิจารณา ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้มีการควบรวมครั้งนี้ 

 

ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 ข้อ 6 ระบุว่า กสทช. ต้องกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และข้อ 11 ระบุว่า จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือก่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

 

“การประเมินผลกระทบจากการซื้อกิจการเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เพราะเป็นธุรกิจประเภทโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนสูง มีลักษณะการผูกขาดตามธรรมชาติ และยังมีความซับซ้อนจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี จึงอาจมีประเด็นหลากหลายให้ กสทช. ต้องพิจารณาถ่วงน้ำหนัก แต่ กสทช. ต้องพึงระลึกว่าการตัดสินใจนั้นควรคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักตามหน้าที่ของตน

 

ย้อนเหตุการณ์ กสทช. ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC

 

การควบรวมเน็ตบ้าน AIS-3BB ถูกยกมาเปรียบเทียบเมื่อครั้งที่ กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC 

 

โดยใช้เวลาในการหารือ 11 ชั่วโมง มีมติรับทราบการควบรวมระหว่าง 2 บริษัท พร้อมกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้น เช่น ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% และแยกแบรนด์ในการทำตลาดเป็นเวลา 3 ปี เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องลุ้นกันว่าวันนี้มติในที่ประชุมบอร์ด กสทช. จะออกมาในทิศทางใด จะควบรวมกิจการ AIS-3BB หรือไม่นั้น ทางทีมข่าว THE STANDARD จะนำเสนอให้ทราบต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X