งานศึกษาวิจัยชิ้นล่าสุดชี้ว่า แวดวงการบินจะเผชิญหน้ากับความท้าทายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ในสหราชอาณาจักร ศึกษาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการบิน และมีแนวโน้มที่นักบินจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นได้ยาก
พวกเขายังค้นพบว่า ความปั่นป่วนนี้รุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 55% ในช่วงระหว่างปี 1979-2020 โดยเฉพาะเส้นทางแถบแอตแลนติกเหนือที่มีการจราจรคับคั่ง
ทางด้าน ศาสตราจารย์พอล วิลเลียมส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศ ประจำมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง และผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับดังกล่าวนี้ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะเพิ่มความปั่นป่วนแปรปรวนในอากาศที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งกล่าวว่า ขณะนี้ทางทีมศึกษาวิจัยมีหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า การเพิ่มขึ้นของความปั่นป่วนแปรปรวนนั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วิลเลียมส์ ยังได้ชี้แนะให้มีการลงทุนในระบบตรวจจับและคาดการณ์ความปั่นป่วนแปรปรวนในสภาพอากาศ เพื่อให้ระบบการบินต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับกับเที่ยวบินโดยสารที่จะแน่นขนัดยิ่งขึ้นในทศวรรษต่อๆ ไป
ศาสตราจารย์วิลเลียมส์ กล่าวว่า ความปั่นป่วนที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากแรงเฉือนของลมที่มากขึ้น หรือความแตกต่างของความเร็วลมในเจ็ตสตรีม และเกี่ยวพันกับความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างเส้นศูนย์สูตรและแถบขั้วโลก
โดยเที่ยวบินที่เผชิญกับความปั่นป่วนแปรปรวนของอากาศ ไม่เพียงแต่จะทำให้การเดินทางสะดวกสบายน้อยลง แต่ผู้โดยสารหรือแม้แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเองอาจได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินไม่น้อย เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมการบินสูญเสียเม็ดเงินจำนวน 150-500 ล้านดอลลาร์ภายในปีเดียว เนื่องจากผลกระทบของความปั่นป่วนที่มีต่อเที่ยวบิน รวมถึงการสึกหรอของเครื่องบิน และต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แต่ละเที่ยวบินต้องคำนึงถึงอีกด้วย
แฟ้มภาพ: Andrei Armiagov / Shutterstock
อ้างอิง: