×

เมื่อคลังสั่งแบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ระยะเวลา​ 6 เดือน ช่วยลูกหนี้ จับตาท่าทีแบงก์พาณิชย์หลังการประชุม กนง.

23.06.2021
  • LOADING...
กระทรวงการคลัง

– นโยบายเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนแบบครอบคลุมทั้งระบบ แบ่งเป็นหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา 3.6 ล้านบัญชี และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านบัญชี, หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี, หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี, หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชนอีก 51.2 ล้านบัญชี ให้เห็นผลภายใน 6 เดือนของนายกรัฐมนตรี เริ่มมีความชัดเจนออกมามากขึ้น โดยเฉพาะจากฝั่งของกระทรวงการคลัง

 

– เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เข้าไปแก้ไขหนี้ครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นเร็วมากจนมาอยู่ที่ระดับ 89.3% ต่อ GDP ด้วยมูลค่ากว่า 14 ล้านล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีได้ร้องขอให้กระทรวงการคลังช่วยดูแลเรื่องการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและสินเชื่อรายย่อย รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงหนี้สหกรณ์ พร้อมกันนี้ได้ขอให้ ธปท. ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนด้วย

 

– ล่าสุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเข้าหารือเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นการเรียกประชุมแบบเร่งด่วน เพื่อสั่งการให้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งประชาชนรายย่อย ผู้ประกอบการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2564 และให้เสนอแผนกลับมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์

 

– กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เบื้องต้นธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐทุกแห่งเห็นตรงกันว่าจะมีการพักชำระหนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไปจนสิ้นปี 2564 จากปัจจุบันที่แต่ละธนาคารช่วงเวลาพักหนี้ไม่เท่ากันและมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยจะทำเป็นมาตรการแพ็กเกจเดียว

 

– นอกจากนี้ยังมีธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งได้เสนอแผนช่วยเหลือลูกหนี้เป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่พักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยตามปกติหรือบางส่วน เป็นการพักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือคิดแค่ 0.01% ต่อปีเท่านั้น คาดว่าจะมีผลเร็วๆ นี้ไปจนถึงสิ้นปี โดยกลุ่มลูกค้าที่จะได้รับความช่วยเหลือคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น 

 

– ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องมีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะไม่ได้ขอรับการชดเชย ธนาคารแต่ละแห่งต้องยอมสูญเสียรายได้เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ยืนยันว่าไม่กระทบกับฐานะของธนาคาร เนื่องจากมีการตั้งสำรองในระดับสูง มีการบริหารความเสี่ยง มีฐานะแข็งแกร่ง

 

– สำหรับการลดเพดานดอกเบี้ย กระทรวงการคลังจะดำเนินการแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการดำเนินการผ่านพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ด้วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ลดอัตราดอกเบี้ยให้ไปแล้วในส่วนพิโกไฟแนนซ์พลัสเหลือ 28% จากเดิม 36% ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 28% เช่นเดียวกัน ส่วนแนวทางยกเลิกเครดิตบูโรเพื่อให้อนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

 

– สำหรับส่วนที่สองซึ่งเกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังจะหารือกับ ธปท. เร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทำได้มากน้อยแค่ไหน ในกลุ่มลูกค้าใดบ้าง

 

– วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรมและที่พัก รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ซึ่งประสบภาวะยากลำบาก ขาดรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยให้ลูกหนี้มาติดต่อเพื่อขอยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง

 

– มาตรการดังกล่าวจะยกเว้นชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้เงินงวดเป็นศูนย์ 6 เดือน มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 250 ล้านบาท มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สาขาธนาคารออมสินหรือศูนย์สินเชื่อธุรกิจลูกค้า SMEs ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กรกฎาคมนี้

 

– ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนลูกค้าไปจนถึงสิ้นปี 2564 เช่น ลดเงินงวดผ่อนชำระเหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดที่ผ่อนชำระในปัจจุบัน ซึ่งเงินงวดที่ผ่อนชำระจะนำไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นต้น โดยการช่วยเหลือในครั้งนี้จะครอบคลุมทั้งลูกค้าของ ธอส. รวมถึงลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าร่วมมาตรการของธนาคาร

 

– ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ช่วยเหลือลูกค้าไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565 ตามสิ้นปีบัญชีการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เพราะปัจจุบัน ธ.ก.ส. ก็ยังดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว

 

– หลังกระทรวงการคลังเริ่มเคลื่อนไหวตอบสนองต่อนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินของนายกรัฐมนตรี ตลาดในเวลานี้จึงจับตาไปที่ท่าทีจากฝั่งของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องรอฟังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ 

 

– นักเคราะห์เชื่อว่า กนง. จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และเลือกใช้วิธีขอความร่วมมือให้​สถาบันการเงินปฏิบัติตาม หรือ Moral Suasion ในการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพียงแต่ครั้งนี้โฟกัสอาจจะอยู่ที่กลุ่มสินเชื่อบุคคลประเภทต่างๆ และการให้ความร่วมมืออาจต้องครอบคลุมไปถึงกลุ่ม Non-Bank และ Leasing ต่างๆ ด้วย

 

– อย่างไรก็ดี ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์บางส่วนได้แสดงความกังวลว่า ฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐนั้นเป็นคนละกลุ่มกัน หากต้องถูกจำกัดเพดานดอกเบี้ย อาจส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่านการประเมินความเสี่ยงต้องหลุดออกจากการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงกว่ามากแทน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising