×

Five Feet Apart เรายังรักกันได้ไหม ถ้าเข้าใกล้กันได้ไม่เกิน 6 ฟุต ในยุค Social Distancing

22.03.2020
  • LOADING...

**เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์**

 

ในช่วงที่เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ มาตรการ Social Distancing หรือการเพิ่มระยะห่างทางสังคมถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด 

 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่รู้สึกอึดอัด และไม่สบายใจเมื่อต้องพยายามเว้นระยะห่างจากผู้คนประมาณ 1.5-2 เมตร ช่องว่างที่เหมือนใกล้ แต่ก็แสนไกล ทำให้หลายคน ‘ละเลย’ ความสำคัญ ยังชะล่าใจใช้ชีวิตตามปกติ จนสุดท้ายเราอาจกลายเป็นหนึ่งใน ‘ผู้โชคร้าย’ ที่ทั้งเจ็บป่วยและเป็นคน ‘แพร่กระจาย’ โรคร้ายโดยไม่รู้ตัว 

 

THE STANDARD POP ขอเล่าเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ห่างจากทั้งผู้คนทั่วไป ไม่อาจเข้าใกล้คนที่พวกเขา ‘รัก’ ได้เกิน 6 ฟุต (180 เซนติเมตร) จากหนังเรื่อง Five Feet Apart ที่เข้าฉายเมื่อกลางปี 2019 ให้ฟังกันอีกสักครั้ง เพื่อย้ำถึงการ ‘เว้นระยะห่าง’ ที่ทุกคนต้องช่วยกันให้ความสำคัญมากกว่านี้จริงๆ 

 

 

ถ้ามองแบบเผินๆ Five Feet Apart ดำเนินเรื่องตามคอนเซปต์ของ ‘หนังรัก’ วัยรุ่นทั่วไป คือเริ่มต้นจากพระเอกและนางเอกที่มีนิสัยแตกต่างกันสุดขั้ว (คนหนึ่งใช้ชีวิตด้วยความหวัง คนหนึ่งเฝ้ารอวันที่จะได้ลาจากโลกนี้ไป) ทะเลาะกัน เริ่มชอบกัน จีบกัน รักกัน มีเพื่อนๆ รอบตัว และคนในครอบครัวมาสร้างสีสันตามปกติ 

 

แต่สิ่งที่ต่างไปคือ ‘อุปสรรค’ ที่พวกเขาต้องข้ามผ่านนั้นคล้ายๆ กับใน The Fault in Our Stars ที่เปลี่ยนจากโรคมะเร็งเป็น Cystic fibrosis หรือ CF (โรคที่ทำให้มีการขับเสมหะในปอดมากกว่าปกติ ทำให้ปอดติดเชื้อได้ง่าย และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่) ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าใกล้กันได้เกินระยะ ‘ปลอดภัย’ ที่กำหนด 

 

และเปลี่ยนฉากหลังจากโรงเรียนไฮสคูลที่เต็มไปด้วยพลังงานและความฝันของวัยรุ่น มาเป็นโรงพยาบาลที่มีนางพยาบาลที่เข้มงวด (แต่ใจดี) คอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

 

ยอมรับว่าในหัวของเรามีแต่ความสงสัย ตอนดูเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อหนึ่งปีก่อน เพราะเราใช้สายตาของ ‘คนนอก’ มองเข้าไปที่การแสดงออกของสองตัวเอกอย่าง วิล (โคล สเปราซ์) และสเตลลา (ฮาร์ลีย์ ลู ริชาร์ดสัน) ทำให้เรารู้สึกไม่เข้าใจ จนเผลอหงุดหงิดท่าทีเริงร่า เจ้าระเบียบ แต่มีความหวังของสเตลลา อาการหมดอาลัยตายอยากที่ไม่ยี่หระกับอะไรทั้งนั้นของวิล 

 

ไปจนถึงอาการสปาร์กกันอย่าง ‘รวดเร็ว’ ของทั้งคู่ ที่ดูพยายามทำทุกอย่างเพื่อเข้าหากันให้ได้มากที่สุด ที่ดูไปก็ได้แต่รู้สึกว่า ‘อะไรมันจะขนาดนั้น’ การต้องอยู่ห่างจากทุกคนในระยะเกือบ 2 เมตร มันจะลำบากแค่ไหนกันเชียว 

 

จนเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่แม้จะยังไม่ได้ป่วย แต่ก็ต้องพยายามรักษาระยะห่างกับคนรอบข้างเอาไว้ เราถึงได้เข้าใจความรู้สึกของพวกเขาขึ้นมาว่า ระยะที่เราเคยคิดว่าใกล้ แท้จริงแล้วมันห่างไกลแค่ไหน 

 

และสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดมากที่สุด ไม่ใช่การต้องอยู่ห่างจากคนรัก แต่เป็นเพราะเรากลัวเหลือเกินว่าเราจะเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ และทำร้ายคนที่เรารักด้วยตัวเอง

 

 

อย่างน้อยภาพของผู้ป่วยที่ต้องแบกเครื่องช่วยหายใจไปด้วยทุกครั้ง และต้องใส่หน้ากากกันเชื้อโรคตลอดเวลา ก็ทำให้เราอยากหยิบหน้ากากมาสวมโดยไม่อิดออด

 

ภาพของคนที่ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคทุกสิ่งรอบตัวตลอดเวลา ก็ทำให้เรารู้สึกว่าการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรขนาดนั้น

 

ภาพของคนที่ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่ในห้องพักปลอดเชื้อที่มีสายน้ำเกลือระโยงระยาง ก็ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าไม่ได้มีธุระจำเป็นให้ต้องออกไปไหน การเก็บตัวอยู่บ้าน สั่งอาหารมากิน โดยที่ยังมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ มีซีรีส์ให้ดู มีเรื่องราวและข่าวสารมากมายให้คอมเมนต์กันทุกวันในโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเกินไปนักในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องช่วยกันลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ณ ขณะนี้ 

 

(ยกเว้น คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการสั่งปิดสถานบริการต่างๆ จนขาดรายได้ และไม่สามารถเก็บตัวอยู่บ้านได้ตามปกติ เราก็ได้แค่เอาใจช่วย และคาดหวังว่าจะมีมาตรการบรรเทาและเยียวยา ให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้อย่างเร็วที่สุด) 

 

ถึงแม้ตอนสุดท้ายวิลและสเตลลา จะตัดสินใจลด ‘ระยะทางอันห่างไกล’ ขยับเข้าหากันทั้งที่รู้ดีว่าอาจต้องแลกด้วยชีวิต และอย่างที่รู้กันดีว่าหลายๆ ครั้ง ในโลกภาพยนตร์ พลังแห่ง ‘ความรัก’ นั้นเอาชนะทุกอย่างได้เสมอ 

 

 

หากแต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่มีคนเขียนบทและผู้กำกับใจดี มาขีดเส้นทางที่แสนโรแมนติกเอาไว้ให้ มีเพียงการประกาศมาตรการที่เปลี่ยนแปลงกันรายชั่วโมง มีคนออกมาให้กำลังใจให้เรา ‘สู้’ ในทุกๆ วัน แต่ยังไม่เห็นวิธีการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ

 

การแสดงออกของความรักที่ดีที่สุดในเวลานี้ ไม่ใช่การออกไป ‘ใช้ชีวิต’ และพาคนรักไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง แต่เป็นการช่วยกันดูแล ‘ทุกคน’ ที่เรารัก รวมทั้งตัวเองให้ปลอดภัยที่สุด 

 

อดทนรอให้ถึงวันที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แล้วค่อยออกไปใช้ชีวิต ร่วมโต๊ะกินข้าว ทำมาหากิน ปาร์ตี้ยันเช้า กอดและแสดงความรักกันอย่างใกล้ชิด ในวันที่โควิด-19 ได้จากเราไปแล้วจริงๆ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X