×

Five Feet Apart ระยะทางอัน ‘ห่างใกล้’ ที่ทำให้เราอยากกลับไป ‘สัมผัส’ กันและกันให้มากขึ้น

19.04.2019
  • LOADING...

บอกก่อนว่าเราไม่อาจใช้คำว่า ‘สนุก’ เพื่ออธิบายความรู้สึกหลังดู Five Feet Apart จบได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่สิ่งที่เราสามารถพูดได้ก็คือ เรื่องราวของวิลและสเตลล่า คู่รักที่ไม่อาจใช้ชีวิตใกล้กันเกิน 6 ฟุตนั้นช่วยให้เราฉุกคิดถึงเรื่องสำคัญในชีวิตได้จนความสนุกกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงไป

 

Five Feet Apart ดำเนินเรื่องตามคอนเซปต์ของ ‘หนังรัก’ วัยรุ่นทั่วไป คือเริ่มต้นจากพระเอกและนางเอกที่มีนิสัยแตกต่างกันสุดขั้ว (คนหนึ่งใช้ชีวิตด้วยความหวัง คนหนึ่งเฝ้ารอวันที่จะได้ลาจากโลกนี้ไป) ทะเลาะกัน เริ่มชอบกัน จีบกัน รักกัน มีเพื่อนๆ รอบตัวและคนในครอบครัวมาสร้างสีสันตามปกติ

 

แต่สิ่งที่ต่างไปคือ ‘อุปสรรค’ ที่พวกเขาต้องข้ามผ่านนั้นคล้ายๆ กับใน The Fault in Our Stars ที่เปลี่ยนจากโรคมะเร็งเป็น Cystic fibrosis หรือ CF (โรคที่ทำให้มีการขับเสมหะในปอดมากกว่าปกติ ทำให้ปอดติดเชื้อได้ง่าย และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่) ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าใกล้กันได้เกินระยะ ‘ปลอดภัย’ ที่กำหนด

 

และเปลี่ยนฉากหลังจากโรงเรียนไฮสคูลที่เต็มไปด้วยพลังงานและความฝันของวัยรุ่น มาเป็นโรงพยาบาลที่มีนางพยาบาลที่เข้มงวด (แต่ใจดี) คอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

สาเหตุหลักที่ใช้คำว่า ‘ไม่สนุก’ กับหนังเรื่องนี้เป็นเพราะ ช่วงแรกๆ เราใช้สายตาของ ‘คนนอก’ มองเข้าไปที่การแสดงออกของ 2 ตัวเอกอย่าง วิล (รับบทโดย โคล สเปราซ์) และสเตลล่า (รับบทโดย ฮาร์ลีย์ ลู ริชาร์ดสัน) จนทำให้เรารู้สึกไม่เข้าใจ จนพาลไปหงุดหงิดท่าทีเริงร่า เจ้าระเบียบ แต่มีความหวังของสเตลล่า อาการหมดอาลัยตายอยากที่ไม่ยี่หระกับอะไรทั้งนั้นของวิล

 

ไปจนถึงอาการสปาร์กกันอย่าง ‘รวดเร็ว’ ของทั้งคู่ ที่ดูพยายามทำทุกอย่างเพื่อเข้าหากันให้ได้มากที่สุด ที่ดูไปก็ได้แต่รู้สึกว่า ‘อะไรมันจะขนาดนั้น’

 

แต่เมื่อหนังดำเนินเรื่องไปสักพัก ถึงจุดที่ตอกย้ำอาการป่วยของพวกเขา (รวมทั้ง โพ เพื่อนของนางเอก) มากขึ้น มากขึ้น เราถึงค่อยๆ ดึงความรู้สึกของตัวเองได้ว่า เรามี ‘สิทธิ์’ อะไรตัดสินว่าการกระทำของพวกเขาเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิด ในเมื่อเราไม่เคยเฉียดเข้าไปใกล้สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญแม้แต่นิดเดียว

 

คนที่ใช้ชีวิตตามปกติที่อย่างมากก็แค่กังวลเรื่องฝุ่น PM2.5 และหาหน้ากากมาใส่เป็นครั้งคราว จะไปเข้าใจความลำบากของคนที่ต้องใส่หน้ากากกันเชื้อโรคตลอดเวลา แถมยังต้องแบกเครื่องช่วยหายใจที่มีสายระโยงระยางติดตัวทุกครั้งที่ไปไหนมาไหนได้อย่างไร

 

คนที่ยังเฮฮา สังสรรค์ สัมผัส และอยู่ใกล้ชิดกับคนที่รักได้ทุกเมื่อเชื่อวัน จะไปเข้าใจความเจ็บปวดของคนที่ต้องรักษาระยะห่าง อยู่ใกล้กับเพื่อนหรือคนรักที่ป่วยเป็นโรค CF เหมือนกันได้ไม่เกิน 6 ฟุตได้อย่างไร ในเมื่อบางครั้งเรามีโอกาสเรายังไม่ยอมเข้าไปกอดคนที่รัก แต่พวกเขาเพียงแค่จะจับมือกันก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ

 

คำว่า ‘ระยะทางอันห่างใกล้’ นั้นแสน ‘ไกล’ มากขนาดไหน มีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รับรู้ได้อย่างแท้จริง

 

ประเด็นสำคัญของ Five Feet Apart สำหรับเราจึงไม่ได้อยู่ที่ความสนุก แต่เป็นการจำลองสถานการณ์ และลองให้คนดูวางชีวิตปกติที่แสนสบาย แล้วเอาตัวเองแทนค่าเข้าไปในสมการความสัมพันธ์ระยะ 6 ฟุต เพื่อหาค่ากลางว่า เราจะสามารถ ‘เข้าใจ’ พวกเขาได้มากแค่ไหน

 

แน่นอนว่าหลายเรื่องเราก็ยังคงตั้งคำถามกับท่าทีของทั้ง 2 คนอยู่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยท่าทีที่เคยไม่ชอบก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเห็นใจและเอาใจช่วยพวกเขามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

ถึงแม้จะยังไม่ทั้งหมด แต่การได้ลอง ‘พยายาม’ ทำความเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรามากขึ้นก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดี ที่เราสามารถนำมาลองแทนค่าในชีวิตจริง เพื่อทำความเข้าใจคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับเรามากยิ่งขึ้น

 

กระทั่งตอนสุดท้ายเมื่อหนังจบ เราก็ยังข้องใจกับตอนที่สเตลล่าตัดสินใจลดระยะห่างต้องห้ามจาก 6 ฟุตมาเหลือ 5 ฟุต รวมทั้งยังติดใจมากๆ ว่า ‘ไม้สนุกเกอร์’ ที่พวกเขาใช้วัดระยะปลอดภัยระหว่างกันนั้นไปเอามาจากที่ไหน ฯลฯ

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ระยะห่าง 5 ฟุตของไม้สนุกเกอร์ที่ดูไม่มีเหตุผลนั้น ทำงานกับ ‘อารมณ์’ และ ‘ความรู้สึก’ ให้เราอยากกลับไปสัมผัสและโอบกอดคนที่เรารักได้อย่างมีพลังมากจริงๆ

 

และเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกหมางเมิน ไม่อยากเข้าใกล้ พูดคุย สัมผัสกับคนที่เรารักทั้งที่มีโอกาสทำได้เป็นเรื่องปกติ

 

ระยะทางอัน ‘ห่างใกล้’ ของวิลและสเตลล่า ที่อาจต้องแลกด้วยชีวิตหากพวกเขาคิดขยับเข้าใกล้กันมากกว่านั้นเพียงแค่นิดเดียว จะเป็นเครื่องช่วยเตือนใจเราได้เป็นอย่างดีว่า เราจะตั้งแง่ เว้นระยะห่างระหว่างกันเอาไว้เพื่ออะไร ในเมื่อความสุขและความอบอุ่นที่ปรารถนานั้นอยู่ไม่ไกล

 

เพียงแต่เราวางอัตตา ลดระยะห่าง แล้วกุมมือหรือกอดกันเท่านั้นเอง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X