×

ย้อนประวัติศาสตร์ ‘สหรัฐฯ’ โดนหั่นเครดิตเรตติ้ง พร้อมจับตาท่าที Moody’s บิ๊กทรีรายสุดท้าย

03.08.2023
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Fitch Ratings เพิ่งดำเนินการตามรอยคู่แข่งอย่าง S&P หลังจากผ่านไป 12 ปี โดยปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐอเมริกา จาก AAA เหลือ AA+ โดยให้เหตุผลถึงแนวโน้มการคลังถดถอยช่วง 3 ปีข้างหน้า ปมเพดานหนี้ที่วนกลับมาเรื่อยๆ และวิธีการแก้ปัญหานาทีสุดท้ายตามสไตล์รัฐบาลกลางสหรัฐฯ

 

THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมเหตุการณ์การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและมุมมอง (Outlook) ของบริษัทจัดอันดับเครดิตต่างๆ ไว้ นับตั้งแต่เกิดปมปัญหาเพดานหนี้เมื่อปี 2011 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก โอบามา

 

โดยจะเห็นว่าขณะนี้มีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Big Three ได้แก่ S&P Global Ratings (S&P), Moody’s และ Fitch หั่นอันดับเครดิตสหรัฐฯ เหลือ AA+ ไป 2 ใน 3 แห่งแล้ว

 

ทำให้อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ 2 คน ได้แก่ Hank Paulson และ Timothy Geithner เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดการกับความท้าทายทางการคลังระยะยาวของประเทศ ก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะไม่สามารถแก้ไขได้

 

ขณะที่ กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ Fitch ในครั้งนี้ถือว่าอยู่ในจังหวะที่ไม่ปกติ เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม การตัดสินใจมาปรับลดในช่วงนี้จึงทำให้ตลาดมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะล่าสุดตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐหลายๆ ตัวก็ยังออกมาเป็นเชิงบวก

 

อย่างไรก็ดี ในมุมหนึ่งก็เข้าใจได้เช่นกัน หาก Fitch จะมองว่าปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลง หนี้จะอยู่ในระดับสูง และการขาดดุลการคลังจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และปัญหาเพดานจะวนลูปกลับมาอีกในที่สุด

 

“Fitch เคยส่งสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของสหรัฐฯ เป็นลบ (Negative Outlook) และไม่ใช่เจ้าแรกที่หั่นเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯ แต่เป็น S&P ที่ปรับลดไปตั้งแต่ปี 2011 จากนี้คงต้องจับตาดูว่า Moody’s จะขยับอย่างไร ถ้าเล่นด้วยก็จะทำให้ตลาดกังวลเรื่องเรตติ้งมากขึ้น” กาญจนากล่าว

 

สำหรับกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.08% มองว่าแรงขับเคลื่อนหลักน่าจะมาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี และการที่สหรัฐฯ มีแผนจะออกพันธบัตรในปริมาณมากออกสู่ตลาดมากกว่า โดยเชื่อว่าถือแม้จะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลง แต่พันธบัตรสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ จะยังเป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่เลือกถือเป็นหลักอยู่ดี เพราะยังไม่มีสินทรัพย์อื่นที่มาแทนที่ได้

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่งทะลุระดับ 4% ซึ่งเป็นระดับจิตวิทยาเกิดจากความกังวลของตลาดว่า Fed อาจยังไม่หยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed มีแนวโน้ม 30% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนกันยายน

 

อีกหนึ่งปัจจัยคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนจะกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ซัพพลายของบอนด์สหรัฐฯ ในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนกรณีการปรับลดเครดิตของ Fitch มองว่าไม่ใช่ปัจจัยหลักทำให้ตลาดตกใจ แต่เป็นปัจจัยผสมมากกว่า 

 

“สหรัฐฯ มีความต่างจากประเทศอื่น ถึงแม้จะโดนปรับลดความน่าเชื่อถือ แต่เงินจะไหลกลับไปถือดอลลาร์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เพราะปัจจุบันยังไม่มีสินทรัพย์อะไรมาแทนที่ดอลลาร์ได้ ในอนาคตเราอาจได้เห็นประเทศต่างๆ กระจายความเสี่ยงไปถือทุนสำรองเป็นสกุลเงินอื่นเพิ่มขึ้น บทบาทของดอลลาร์จะลดลง แต่การจะปรับเปลี่ยนสถานะคงเป็นภาพที่อีกไกลมาก” อมรเทพกล่าว

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า การปรับลดเครดิตเรตติ้งสหรัฐฯ ของ Fitch ไม่ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด เนื่องจากเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า สหรัฐฯ มีปัญหาขาดดุลการคลังเรื้อรัง แต่ที่ระบบยังไปต่อได้เพราะเงินสกุลดอลลาร์มีสถานะเป็นทุนสำรองของโลก โดยเชื่อว่าเมื่อ Fitch และ S&P ปรับลดอันดับความเชื่อถือไปแล้ว อีกหนึ่งสถาบันที่เหลืออยู่อย่าง Moody’s คงต้องปรับตามในที่สุด

 

เครดิตเรตติ้ง สหรัฐ

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X