×

รัฐบาลรับ 11 ข้อเสนอช่วยชาวประมง พร้อมเร่งแก้ปัญหา ปักธงไทยปลอดไอยูยู

19.12.2019
  • LOADING...

วันนี้ (19 ธันวาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง หลังจากไม่นานมานี้ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย และกลุ่มพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัด เข้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาด้านผลกระทบจากการดำเนินงานประมงที่เข้มงวด ภายหลังประเทศไทยถูกปลดจากใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายจากไอยูยู (การประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม) (IUU – Illegal Unreported and Fishing) เป็นเหตุให้ชาวประมงในประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนพอสมควร พร้อมแสดงข้อเรียกร้องจำนวน 11 ข้อต่อรัฐบาล ดังนี้

 

  1. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง 
  2. ให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก. ประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงการประชุมสภานิติบัญญัตินี้ 
  3. ให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลตั้งงบจำนวน 10,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในการนำเรือประมงออกนอกระบบ 
  4. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับชาวประมง 
  5. ขอให้กรมประมง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก. การประมง ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 
  6. ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎระเบียบ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบให้กับชาวประมง 
  7. เรือประมงขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสไม่ควรมีนโยบาย VMS 
  8. ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าสัตว์น้ำของไทย 
  9. ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำการประมง 
  10. ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงจ่ายผ่านบัตรฟลีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมง 
  11. ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีที่ถูกบังคับให้ใช้กฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณา

 

เบื้องต้นทางคณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะติดขัดข้อกฎหมายและต้องศึกษาผลกระทบ จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วยผู้แทนหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2563

 

ทั้งนี้ รัชดาเปิดเผยว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งสามารถหาข้อสรุปได้ในหลายประเด็น คือ การทบทวนกฎ ระเบียบ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประมง โดยรวบรวบกฎระเบียบ แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้แก่ชาวประมง กรณีเรือประมงขนาดเล็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 30 ตันกรอส โดยกรมประมงยืนยันว่า จะยังไม่มีนโยบายให้ติด VMS  

 

รวมทั้งจะมีการพิจารณาประเด็นอายุของแรงงานที่กำหนดให้มีอายุ 18 ปี เป็น 16 ปี เพื่อเติมจำนวนแรงงานประมงได้ รวมทั้งเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยและขยายระยะเวลาในการทำประมง ในส่วนการเงินนั้น เห็นชอบให้มีการจัดทำสินเชื่อให้แก่ชาวประมงผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งจะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและผู้แทนชาวประมง เพื่อศึกษาอุปสรรคในการประกอบอาชีพและดำเนินการแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม รัชดา ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายระยะยาวที่มุ่งให้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ให้ไทยเป็นประเทศปลอดไอยูยูว่า จุรินทร์ได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ประชุมกันให้บ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อน ติดตามการแก้ปัญหาของประมงไทยในระยะยาว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising