×

สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม ร้อนสุดเท่าที่โลกเคยเจอมา สะท้อนโลกรวนรุนแรงเกินควบคุม

12.07.2023
  • LOADING...
โลกร้อน

“ภาวะโลกรวนรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว” นี่คือคำยืนยันจากอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) หลังองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยว่า สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ นี้เป็นสัปดาห์ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวัดจากอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งโลก

 

แถลงการณ์จาก WMO ระบุว่า “โลกเพิ่งเผชิญกับสัปดาห์ที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลเบื้องต้น” พร้อมระบุด้วยว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นไม่ใช่แค่บนพื้นดิน แต่มหาสมุทรก็ร้อนทำลายสถิติเดิมด้วยเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบนโลกของเรา

 

รายงานที่ WMO เพิ่งเปิดเผยไปนี้ถือว่าตามมาติดๆ จากรายงานของ Copernicus Climate Change Service (C3S) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรปที่ระบุว่า เดือนที่แล้วเป็นมิถุนายนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ แถมยังมีอุณหภูมิสูงทิ้งห่างสถิติเดิมที่ทำไว้ในปี 2019 อีกด้วย 

 

แม้ประเทศไทยเราในตอนนี้จะมีฝนโปรยปรายลงมาพอช่วยบรรเทาอากาศที่ร้อนอบอ้าวกันบ้างแล้ว แต่ในประเทศอื่นๆ นั้นกำลังเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบจะอยู่ไม่ได้ เช่น สเปนที่มีภัยแล้งรุนแรง รวมถึงสหรัฐอเมริกาและจีนที่เจอกับคลื่นความร้อนมหาโหด

 

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนเป็นผลพวงจากการที่ปรากฏการณ์เอลนีโญได้หวนกลับมาเยือนโลกของเราอีกครั้ง และที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ‘ภาวะโลกรวน’ ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

 

คริสโตเฟอร์ ฮิววิตต์ (Christopher Hewitt) ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสภาพอากาศของ WMO กล่าวว่า “พวกเรากำลังอยู่ในดินแดนที่ไม่รู้จักมาก่อน และมีแนวโน้มที่เราจะเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนทำลายสถิติเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเอลนีโญทวีความรุนแรงขึ้น และผลกระทบเหล่านี้จะลามไปถึงปี 2024 ด้วย 

 

“นี่คือข่าวที่น่ากังวลสำหรับโลกของเรา”

 

  • เปิดข้อมูลโลกร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม

 

สถาบันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำมหาวิทยาลัยเมน สหรัฐฯ รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม อุณหภูมิเฉลี่ยโลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา โดยวัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกได้สูงถึง 17.18 องศาเซลเซียส สูงกว่าสถิติเดิมที่เคยวัดได้ที่ 17.01 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ถือเป็นสถิติที่สูงเกิน 17 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ใช้ระบบดาวเทียมช่วยเก็บบันทึกสถิติมาตั้งแต่ปี 1979

 

แต่หากนับเป็นช่วง 7 วันโดยสิ้นสุด ณ วันพุธที่ 5 กรกฎาคม อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันถือว่าอยู่สูงเหนือสัปดาห์อื่นๆ ย้อนหลังไปถึง 44 ปีที่ราว 0.04 องศาเซลเซียส หากเจาะดูเฉพาะข้อมูลของวันพุธที่ 5 กรกฎาคมจะเห็นว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอยู่ที่ระดับสูงที่ 17.18 องศาเซลเซียส

 

ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามบอกกับพวกเรามาเนิ่นนานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ บวกกับการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอีกจนทำลายสถิติเดิมที่น่ากังวลอยู่แล้ว

 

และไม่ใช่แค่อุณหภูมิบนบกที่ร้อนจัด แต่อุณหภูมิพื้นผิวของมหาสมุทรทั่วโลกก็ถีบตัวสูงขึ้นอย่างที่มนุษย์ไม่เคยพบมาก่อนในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา โดยฮิววิตต์กล่าวว่า “มันไม่ใช่แค่อุณหภูมิผิวน้ำ แต่น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังดูดซับพลังงานมหาศาลเอาไว้ ซึ่งมันจะอยู่เช่นนั้นไปอีกหลายร้อยปี”

 

ด้าน ไมเคิล สแปร์โรว์ (Michael Sparrow) หัวหน้าโครงการวิจัยสภาพภูมิอากาศโลกของ WMO กล่าวว่า “หากมหาสมุทรร้อนขึ้นมาก นั่นจะส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ ต่อน้ำแข็งในทะเล และน้ำแข็งทั่วโลก”

 

ข้อมูลจาก NASA ระบุว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทะเลโลกดูดซับความร้อนส่วนเกินถึง 90% ที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลร้อนขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออีกหลายเหตุการณ์เป็นห่วงโซ่ไป ไม่ว่าจะเป็นพายุที่มีกำลังรุนแรงขึ้นกว่าเดิม น้ำแข็งในทะเลเสี่ยงละลายตัวหนัก จนทำให้โลกอาจมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 

 

นอกจากนี้มันยังส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลด้วย โดยรายงานระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่สัตว์ทะเลทุกสปีชีส์ราว 1 ใน 3 ของโลกอาจล้มหายตายจากเราไปหมดภายในระยะเวลา 300 ปี 

 

หากคิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่ากังวลแล้วละก็ เตรียมใจไว้เลยว่านี่อาจยังไม่ใช่ ‘ที่สุด’ เพราะสแปร์โรว์กล่าวว่า เอลนีโญที่ย่างกรายมาสู่โลกตอนนี้ยังไม่ได้สร้างผลกระทบที่เห็นชัดมากนัก ฉะนั้นเราจะได้เริ่มเห็นผลกระทบของเอลนีโญที่รุนแรงจริงๆ ในปี 2024

 

สำนักข่าว AFP ได้สอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติมไปยัง Copernicus ซึ่งทางหน่วยงานระบุว่า หากนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลแล้ว จะเห็นได้ว่าสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มที่จะร้อนสุดนับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลย้อนหลังมาตั้งแต่ปี 1940 หรือเมื่อ 83 ปีก่อน และหากดูจากข้อมูลที่รวบรวมมานั้นมีแนวโน้มว่าวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม มีแนวโน้มเป็นวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงสุดในประวัติศาสตร์

 

  • ภาวะโลกรวนรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว

 

ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการสรุปภาพรวมของพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งโลก ทีนี้เราอยากชวนทุกคนมาลองเจาะดูผลกระทบจากความร้อนตามพื้นที่ต่างๆ กันบ้าง

 

เริ่มจากแนวชายแดนซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางรายงานว่า อุณหภูมิที่ร้อนระอุในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้มีคนตายแล้ว 10 คน ขณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือประชาชนอีก 45 คนที่ประสบภัยจากคลื่นความร้อน

 

ขณะที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ นั้นเตรียมเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงต่ออีกสัปดาห์ โดยพยากรณ์อากาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 กรกฎาคม) ระบุว่า อากาศจะร้อนจัดไปจนถึงสุดสัปดาห์นี้ในเมืองฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของรัฐแอริโซนา อีกทั้งยังระบุด้วยว่า เมืองฟีนิกซ์มีแนวโน้มที่จะร้อนทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้เมื่อฤดูร้อนของปี 1974 แถมยังจะร้อนติดต่อกันนานหลายวันด้วย โดยอุณหภูมิอาจสูงคาบเส้น 43 องศาเซลเซียสหรือทะลุไปเกินกว่านี้

 

พร้อมกันนี้ทางการยังเตือนให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของรัฐเนวาดาและนิวเม็กซิโกของสหรัฐฯ อยู่แต่ในอาคาร เพราะอากาศข้างนอกร้อนจัดจนเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

สำหรับในรัฐเท็กซัส ตอนนี้ผู้คนกำลังประสบกับสิ่งที่เรียกว่า ‘โดมความร้อน’ ซึ่งเป็นภาวะที่อากาศร้อนระอุถูกกักเก็บอยู่ในชั้นบรรยากาศ จนทำให้เมืองมีสภาพไม่ต่างจากเตาอบ ส่วนยุโรปและสเปนต่างเตรียมเผชิญกับคลื่นความร้อนระลอกใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

 

มาดูที่ฟากฝั่งของแคนาดากันบ้าง เป็นที่รู้จักกันดีว่าแคนาดากำลังเผชิญกับไฟป่ารุนแรง ซึ่งควันจากไฟป่าที่กินพื้นที่มหาศาลนั้นได้ลอยเข้าปกคลุมท้องฟ้าของแคนาดา แถมยังลอยไกลไปถึงนิวยอร์ก จนทำให้มหานครที่ไม่เคยหลับใหลแห่งนี้มีกลิ่นเหมือนกับ ‘ไม้ไหม้ๆ’ อีกทั้งระดับมลพิษยังพุ่งสูงรุนแรงกระทบกับชีวิตของผู้คนกว่า 100 ล้านคน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของแคนาดาระบุว่า ตัวเลขของไฟป่าในประเทศทะยานไปไกลมาก โดยตัวเลข ณ วันศุกร์ (7 กรกฎาคม) ชี้ว่าขณะนี้ไฟป่าได้ลุกลามมากกว่า 670 จุดทั่วประเทศ

 

  • คนทยอยตายจากอากาศร้อน

 

สภาพอากาศที่ร้อนจัดนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์หลายอย่าง ตั้งแต่ฮีตสโตรก หรือโรคลมแดด ภาวะขาดน้ำ ไปจนถึงกระตุ้นให้เกิดปัญหาในระบบหัวใจและหลอดเลือด

 

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 กรกฎาคม) มีงานวิจัยที่เผยแพร่ลงในวารสารวิชาการ Nature Medicine ซึ่งระบุว่า เมื่อปี 2022 ยุโรปเผชิญกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ เป็นเหตุให้ประชาชนกว่า 61,000 คนเสียชีวิต โดยคณะนักวิจัยได้เรียกร้องให้มีการยกระดับมาตรการป้องกันเพื่อปกป้องผู้คนจากคลื่นความร้อนที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าเดิมในช่วงปีต่อๆ ไป

 

การศึกษาระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และประมาณ 63% ของผู้เสียชีวิตเนื่องจากคลื่นความร้อนเป็นผู้หญิง หรือมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาการอ่อนเพลียจากความร้อนและโรคลมแดดมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากผลกระทบของภาวะโลกรวนทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโรคลมแดดเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่ร้ายแรงที่สุด และจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียความสามารถในการขับเหงื่อออกไป โดยสัญญาณเตือนที่สำคัญคือ คนที่เป็นโรคลมแดดจะไม่มีเหงื่อออก แต่หน้าจะแดง ตัวจะร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทะลุ 40 องศาเซลเซียส และหมดสติ ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

 

เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนสุดคือกรณีของอินเดีย โดยย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน มีชาวอินเดียตายจากฮีตสโตรกถึง 13 คนพร้อมกัน หลังจากเข้าร่วมในงานประกาศรางวัลมหาราษฏระภูชาน (Maharashtra Bhushan) ในนวีมุมไบ รัฐมหาราษฏระ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นในสถานที่กลางแจ้ง ไม่มีแม้แต่หลังคาหรือร่มเงาไม้บัง ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนจัดถึง 42 องศาเซลเซียส แสงแดดที่แผดเผาลงมาทำให้ผู้คนในงานร้อนจนทนไม่ไหว มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกหามส่งโรงพยาบาล เด็กและผู้หญิงหลายคนเป็นลม บ้างนอนอยู่ริมถนนพยายามร้องขอน้ำดื่ม จนเจ้าหน้าที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือกันจ้าละหวั่น 

 

แม้อาการจากโรคลมแดดจะรุนแรง แต่แนวทางป้องกันนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ เช่น การดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด พร้อมสวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายอากาศดี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดยาวนานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตรแม้จะไม่ได้หิวน้ำก็ตาม ส่วนเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

 

แฟ้มภาพ: New Africa via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising