- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้มีกำหนดการประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2/2563 ของสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์ว่าจะติดลบ 13.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 จากที่ไตรมาสก่อนหน้า -3.1% สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้ในการพิจารณาสภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.0% (YoY) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผย GDP ไตรมาส 2/2563 เบื้องต้นออกมาที่ -32.9% (YoY) เป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูล แต่ดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ -34.1% (YoY) โดยการหดตัวในไตรมาสนี้เป็นการหดตัว 2 ไตรมาสต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ -5.0% ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ การหดตัวในครั้งนี้ถูกกดดันจากการบริโภคของประชาชนที่หดตัวถึง 25% จากการปิดเมืองในช่วงต้นไตรมาส และความไม่แน่นอนด้านตลาดแรงงาน ส่งผลให้ประชาชนลดการใช้จ่าย
- วานนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความระบุว่า “การลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์จะทำให้การเลือกตั้งในปี 2020 เป็นการเลือกตั้งที่ผิดพลาดและมีการฉ้อโกงมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่น่าละอายต่อสหรัฐฯ เราควรชะลอการเลือกตั้งออกไปจนกว่าประชาชนจะสามารถลงคะแนนได้อย่างปลอดภัย อย่างมั่นคง และอย่างเหมาะสม” โดยแนวคิดการเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์นั้นมาจากแรงกดดันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายรัฐเสนอการใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างการเลือกตั้ง
- เช้าวันนี้กระทรวงแรงงานจีนประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและบริการ (Manufacturing & Non Manufacturing PMI) ประจำเดือนกรกฎาคมออกมาที่ 51.1 และ 54.2 จุด ตามลำดับ อยู่เหนือกว่า 50.0 จุดทั้ง 2 ดัชนี สะท้อนมุมมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยในส่วนของดัชนีภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นการประกาศออกมาเหนือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 50.7 จุดด้วย
- วานนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ออกมาที่ 1.434 ล้านตำแหน่ง ดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.450 ล้านตำแหน่ง แต่เป็นการขยายตัว 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง หลังจากที่ลดลงมา 16 สัปดาห์ สะท้อนภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มอ่อนแรงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่อาจต้องมีการปิดเมืองอีกครั้งในหลายรัฐที่โควิด-19 ยังแพร่ะระบาดในระดับสูง
ภาวะตลาดวานนี้
- ดัชนี Dow Jones และ S&P 500 ปรับตัวลงหลังตัวเลข GDP ออกมาติดลบสองเดือนติดต่อกัน บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สวนทางกันกับดัชนี Nasdaq ที่ปรับตัวขึ้นจากแรงเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก่อนที่จะประกาศผลประกอบการ ซึ่งออกมาแข็งแกร่งตามที่คาดการณ์ไว้ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงจากผลประกอบการที่ออกมาไม่สู้ดีนัก และออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี สร้างความกังวลให้นักลงทุนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมา
- สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงจากตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่ออกมาอ่อนแอ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจไม่กลับมาฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน และอาจทำให้ปริมาณน้ำมันกลับมาล้นตลาดอีกครั้ง ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลงจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมา 9 วันติดต่อกันจากหลายๆ ปัจจัยที่กดดันภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 26313.65 ลดลง -225.92 (-0.85%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3246.22 ลดลง -12.22 (-0.38%)
- Nasdaq อยู่ที่ 10587.81 เพิ่มขึ้น 44.87 (0.43%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 12379.65 ลดลง -442.61 (-3.45%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 5989.99 ลดลง -141.47 (-2.31%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3208.2 ลดลง -91.96 (-2.79%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 19228.47 ลดลง -652.1 (-3.28%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 22339.23 ลดลง -57.88 (-0.26%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 6051.1 เพิ่มขึ้น 44.7 (0.74%)
- Shanghai อยู่ที่ 3286.82 ลดลง -7.73 (-0.23%)
- SZSE Component อยู่ที่ 13466.85 ลดลง -90.59 (-0.67%)
- China A50 อยู่ที่ 15202.64 ลดลง -108.2 (-0.71%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24710.59 ลดลง -172.55 (-0.69%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 12722.92 เพิ่มขึ้น 181.95 (1.45%)
- SET อยู่ที่ 1315.74 ลดลง -22.61 (-1.69%)
- KOSPI อยู่ที่ 2267.01 เพิ่มขึ้น 3.85 (0.17%)
- IDX Composite อยู่ที่ 5149.63 เพิ่มขึ้น 38.51 (0.75%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 37736.07 ลดลง -335.06 (-0.88%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5928.45 ลดลง -37.82 (-0.63%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 40.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.99 (-2.4%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 43.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.51 (-1.57%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1957.04 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -9.66 (-0.49%)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters