- กนง. คงอัตราดอกเบี้ย 1.75% มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยหั่นคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ปี 2562 เหลือเพียง 3.3% จากเดิม 3.8% ขณะเดียวกันก็ปรับลด GDP ปี 2563 เหลือโต 3.7% จากเดิม 3.9% นอกจากนี้ยังปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของภาคส่งออกปี 2562 เป็น 0% จากเดิม 3.0% แต่คาดว่าปี 2563 จะขยายตัว 4.3% ส่วนการนำเข้าปี 2562 คาดว่าจะหดตัว -0.3% จากเดิมขยายตัว 3.1% ขณะที่ปี 2563 จะขยายตัว 4.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2562 กนง. ได้คงประมาณการไว้ที่ 1.0% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดประมาณการลงเป็น 0.7% จากเดิม 0.8%
ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย
1. การส่งยังคงได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
2. การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า และการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง
ปัจจัยหนุน
1. การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
2. การย้ายฐานการผลิตมายังไทย และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ แม้การลงทุนภาคเอกชนในประเทศยังมีการชะลอตัว
- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่การเจรจาการค้ากับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในเวที G20 ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น จะประสบความสำเร็จ พร้อมแสดงความพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเรียกร้องให้จีนกลับไปใช้ข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้ประกาศแผนสำรองเผื่อกรณีที่การเจรจาการค้าไม่ประสบความสำเร็จว่า พร้อมกลับมาเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีกครั้ง รวมถึงลดมูลค่าการค้ากับจีนลง ซึ่งท่าทีดังกล่าวสวนทางกับสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังที่ออกมาเปิดเผยว่าการเจรจาการค้ามีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว
- ฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านยืนยันว่า อิหร่านไม่ต้องการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ ยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้นำสูงสุดเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้ปฏิเสธที่จะเจรจากับสหรัฐฯ โดยตรง เนื่องจากมองว่าสหรัฐฯ เป็นต้นเหตุของความตึงเครียดในครั้งนี้ พร้อมประกาศยกเลิกการปฏิบัติตามความตกลงนิวเคลียร์ 2558 ที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ และเรียกร้องประเทศในยุโรปช่วยสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง
- จับตาตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยคืนนี้สหรัฐฯ มีกำหนดจะประกาศตัวเลขยอดขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claim) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ประกาศทุกสัปดาห์ ตัวเลขดังกล่าวเคยอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ระดับ 193,000 ราย ซึ่งสะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่ระดับ 216,000 ราย สำหรับการประกาศครั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 220,000 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการจับตาดูความชัดเจนทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นในระดับนี้ยังถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 690,000 รายภายในสัปดาห์เดียว
- Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมองจากปัจจัยสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน บวกกับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับต่ำสุดที่ 1.75% ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.90% ในช่วงกลางปี 2020 นอกจากนี้ปัจจัยดังกล่าวยังกดดันไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ -0.3% ในปลายปี 2019 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีก็มีโอกาสปรับตัวลดลงสู่ระดับ -0.55% ในปลายปี 2019 เช่นกัน
สภาวะตลาดวานนี้
- Bloomberg รายงานว่า FDI ไทยไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวแรงถึง 253% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลุ่ม Supply Chain เข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนในประเทศไทยถึง 84,000 ล้านบาท ขณะที่มาเลเซียมีการขยายตัวของ FDI ไตรมาสแรกปี 2562 ถึง 127% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- ราคาน้ำมันปรับขึ้นราว 3% หลังสหรัฐฯ เผยน้ำมันดิบคงคลังต่ำกว่าคาดถึง 4 เท่า โดยขาดสต๊อกถึง -12.788 ล้านบาร์เรล จากที่นักวิเคราะห์คาดไว้เพียง -2.540 ล้านบาร์เรล ซึ่งแนวโน้มที่น่าจับตาของราคาน้ำมันดิบต่อจากนี้คือการประชุม OPEC ซึ่งจะมีขึ้นหลังการประชุม G20 โดยท่าทีจากที่ประชุม G20 จะเป็นส่วนสำคัญในการประเมินอุปสงค์น้ำมัน เพื่อพิจารณาขยายเวลาลดกำลังการผลิตต่อไป
- สหรัฐฯ-จีน บรรลุข้อตกลงทางการค้าไปแล้ว 90% สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เผยว่า คณะเจรจาของทรัมป์ทำข้อตกลงร่วมกับจีนไปแล้ว 90% และเชื่อมั่นว่า ทรัมป์และสีจิ้นผิงจะสามารถเจรจาคืบหน้าในการประชุม G20 ที่นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม มนูชินไม่ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดในส่วนของ 10% ที่ยังตกลงกันไม่ได้
ยุโรป
- STOXX600 ปิดที่ 382.20 ลดลง 1.20 (-0.31%)
- DAX ปิดที่ 12,245.32 เพิ่มขึ้น 16.88 (+0.14%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7,416.39 ลดลง 6.04 (-0.08%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21,057.14 ลดลง 71.27 (-0.34%)
เอเชีย
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6,640.50 ลดลง 17.50 (-0.26%)
- Shanghai ปิดที่ 2,976.28 ลดลง 5.79 (-0.19%)
- Hang Seng ปิดที่ 28,221.98 เพิ่มขึ้น 36.00 (+0.13%)
- KOSPI ปิดที่ 2,121.85 เพิ่มขึ้น 0.21 (+0.01%)
- BSE Sensex ปิดที่ 39,592.08 เพิ่มขึ้น 157.14 (+0.40%)
- Nikkei ปิดที่ 21,086.59 ลดลง 107.22 (-0.51%)
- SET ปิดที่ 1,722.21 เพิ่มขึ้น 0.88 (+0.05%)
อเมริกา
- DOW30 ปิดที่ 26,536.82 จุด ลดลง 11.40 (-0.04%)
- S&P500 ปิดที่ 2,913.78 จุด ลดลง 3.60 (-0.12%)
- NASDAQ ปิดที่ 7,909.97 จุด เพิ่มขึ้น 25.25 (+0.32%)
Commodities
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. พุ่งขึ้น 1.55 เหรียญสหรัฐ หรือ 2.7% ปิดที่ 59.38 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐ หรือ 2.2% ปิดที่ 66.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ลดลง 3.3 เหรียญสหรัฐ หรือ 0.23% ปิดที่ 1,415.40 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: Infoquest, Bloomberg, Investing