- OECD ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก วานนี้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้เหลือ 2.9% จาก 3.2% ส่วนปี 2563 ปรับลดลงเหลือโตแค่ 3.0% จาก 3.4% สืบเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อแยกเป็นรายประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 2.4% ในปีนี้ ลดลงจากที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 0.4% และขยายตัวต่ำกว่าปีที่แล้วที่ 2.9% ส่วนปีหน้าคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวในอัตรา 2.0% ลดลง 0.3% ส่วนจีนคาดว่าจะขยายตัว 6.1% ในปีนี้ ลดลง 0.1% และ 5.7% ในปี 2563
- Brexit อาจมีข้อตกลงทันการณ์ หนุนค่าเงินปอนด์พุ่ง วานนี้ ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี Brexit ว่า ตัวเขาเชื่อว่าจะสามารถทำข้อตกลงการแยกตัวของสหราชอาณาจักรได้ทันเวลา โดยที่เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดข้อตกลง เพราะเขาไม่ชอบแนวคิดขอ No-Deal Brexit ที่จะสร้างแรงกดดันตามมาอีกอย่างน้อยๆ 1 ปี ท่าทีของยุงเกอร์ส่งผลให้สกุลเงินปอนด์ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.2553 ปอนด์ต่อดอลลาร์ จากความคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงกันได้ในท้ายที่สุด
- ตัวเลขตลาดแรงงานและอสังหาฯ สหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งเหนือคาด ตัวเลขการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claim) อยู่ที่ 208,000 คน ดีกว่าคาดที่ระดับ 213,000 คน ขณะที่ตัวเลขยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 5.49 ล้านหลัง ดีกว่าคาดที่ 5.37 ล้านหลัง ซึ่งเป็นการขยายตัว 1.3% (MoM) สูงกว่าที่คาดว่าจะหดตัว 0.4% (MoM) สะท้อนตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
- BOE-BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด วานนี้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ท่ามกลางความเสี่ยงที่อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง สอดคล้องในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ พร้อมทั้งคงขนาดการซื้อสินทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
- หุ้น Microsoft แตะระดับสูงสุดในรอบปี หลังประกาศจ่ายปันผล 11% พร้อมประกาศแผนการซื้อหุ้นคืน 40,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นก่อนย่อตัวเล็กน้อย ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดของ Microsoft ขึ้นมาที่ 1.085 ล้านล้านดอลลาร์ แซงหน้า Apple
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นเอเชียวานนี้ปรับตัวในแดนลบ ขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway สัญญาณการหยุดลดดอกเบี้ยจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในคืนวันพฤหัสบดี สร้างความผิดหวังต่อตลาดหุ้นโดยทั่ว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือตลาดหุ้นกำลังพัฒนา (Emerging Market) ที่ต้องเผชิญกับแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจแข็งค่าต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์โจมตีโรงน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ในด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งได้ปรับตัวลงไปมากจากความคาดหวังถึงแนวอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับลงมากกว่านี้ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากหุ้น Microsoft ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน ประกอบกับการเสนอกฎหมายกำหนดราคายา ซึ่งผลักดันกลุ่ม Healthcare ให้ปรับตัวสูงขึ้น และตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นนำมาโดยกลุ่มเหมืองแร่และธนาคาร หลังแนวโน้มการเจรจาการค้ามีท่าทีที่ดีมากขึ้น ประกอบกับแนวคิดการใช้ระบบ Tiering เงินฝากที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้กลุ่มธนาคารจะมีภาระการชำระดอกเบี้ยเงินฝากกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ลดลง
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 27119.76 ลดลง -27.32 (-0.1%)
- S&P 500 ปิดที่ 3008.5 เพิ่มขึ้น 1.77 (0.06%)
- Nasdaq ปิดที่ 8188.74 เพิ่มขึ้น 11.35 (0.14%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 12457.7 เพิ่มขึ้น 68.08 (0.55%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7356.42 เพิ่มขึ้น 42.37 (0.58%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3552.65 เพิ่มขึ้น 24.61 (0.7%)
- FTSE MIB ปิดที่ 22128.24 เพิ่มขึ้น 180.54 (0.82%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 22044.45 เพิ่มขึ้น 83.74 (0.38%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6717.5 เพิ่มขึ้น 35.9 (0.54%)
- Shanghai ปิดที่ 2999.28 เพิ่มขึ้น 13.62 (0.46%)
- SZSE Component ปิดที่ 9852.2 เพิ่มขึ้น 98.88 (1.01%)
- China A50 ปิดที่ 13806.65 ลดลง -2.95 (-0.02%)
- Hang Seng ปิดที่ 26468.95 ลดลง -285.17 (-1.07%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 10894.7 ลดลง -34.75 (-0.32%)
- SET ปิดที่ 1640.66 ลดลง -13.48 (-0.81%)
- KOSPI ปิดที่ 2080.35 เพิ่มขึ้น 9.62 (0.46%)
- IDX Composite ปิดที่ 6244.47 ลดลง -32.16 (-0.51%)
- BSE Sensex ปิดที่ 36093.47 ลดลง -470.41 (-1.29%)
- PSEi Composite ปิดที่ 7911.32 ลดลง -3.97 (-0.05%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 58.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.27 (0.47%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 64.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.84 (1.32%)
- ราคาทองคำปิดที่ 1504.8 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -11 (-0.73%)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing