- ส่งออกทรุด ฉุด GDP ไทย โดยวานนี้สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ที่ระดับ 2.3% (YoY) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.8% ขณะที่ภาพรวม 6 เดือน ขยายตัว 2.6% พร้อมกันนั้นยังปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือขยายตัว 2.7-3.2% จากเดิม 3.3-3.8% ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่หดตัว 6.1% (YoY) สืบเนื่องจากกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ยานพาหนะ เคมีภัณฑ์ที่ชะลอตัว รวมถึงสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าวและยางพาราก็ชะลอตัว จากสงครามการค้าที่กดดันการส่งออกทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการนำเข้าที่หดตัว 2.7% (YoY) อันเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทน ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนยังขยายตัวได้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ เมื่อประกอบกับการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะส่วนของการคมนาคมแล้ว ส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ในอัตราที่อยู่ในการคาดการณ์ของสภาพัฒน์
- JP Morgan วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก ออกโรงเตือนนักลงทุนอย่าเพิ่งผลีผลามเข้าลงทุนซื้อหุ้นในจังหวะตลาดย่อตัวช่วงนี้ จากความกังวลกรณี Inverted Yield Curve ในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจยังสดใส แนวโน้มการเจรจาการค้าที่ดีขึ้น และท่าทีผ่อนคลายของธนาคารกลางต่างๆ ก็ตาม เนื่องจาก JP Morgan เชื่อว่า การปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมนั้น จะไม่ยาวนานกว่าช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
- สหรัฐฯ ประกาศอนุมัติขยายระยะเวลาให้ Huawei ทำการค้ากับบริษัทสหรัฐฯ ได้ต่ออีก 90 วัน เพื่อช่วยเหลือบริษัทโทรคมนาคมขนาดเล็กที่ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนอุปกรณ์ของ Huawei โดยยอมรับว่า จำเป็นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีอีก เพื่อให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น
- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ากดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% พร้อมทั้งกลับมาใช้มาตรการ QE อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทรัมป์ระบุว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ขาดวิสัยทัศน์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจที่กำลังแข็งแกร่ง ย่ำแย่ลง เพื่อหวังผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง
- จีนเดินหน้าปฏิรูป LPR กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยวานนี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) เผยมาตรการปฏิรูปและปรับปรุงกลไกในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.31% โดยมีการเพิ่มเติมจำนวนธนาคารที่ร่วมอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจากเดิม 10 แห่ง เป็น 18 แห่ง ซึ่งกระจายตัวทั้งธนาคารพาณิชย์ในเขตเมืองและชนบท รวมไปถึงธนาคารต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจ และผลักดันให้การใช้สภาพคล่องจำนวนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านทางความพยายามผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยโดยรวมลดลง
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง นับตั้งแต่เผชิญความกังวลสงครามการค้ารอบใหม่ การประกาศยินยอมให้บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่จากจีน หรือ Huiwei สามารถทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันต่อได้อีก 90 วัน ส่งผลให้วานนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น โดยกลุ่ม Semiconductor ปรับตัวขึ้น +2.23% ขณะที่กลุ่ม Hardware Equipment ปรับตัวขึ้น +2.00% ส่งผลโดยรวมกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น +1.56% และการปรับตัวลงของ Risk Indicator บางส่วนถือว่าเป็นอีกสัญญาณที่ตลาดเริ่มผ่อนผลาย ได้แก่ ดัชนี VIX Index ล่าสุดปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 16.88 จากระดับ 23.73 ในสัปดาห์ก่อน ขณะที่ Gold Future ลงมาทดสอบที่ระดับ 1,505 ดอลลาร์ จากระดับ 1,535 ดอลลาร์
- ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวโดดเด่น สืบเนื่องจากธนาคารกลางจีนลดกรอบความเข้มงวดจากการจำกัดธนาคารที่สามารถปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีที่ระดับ 4.31% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำ ก่อนหน้านี้กำหนดไว้เพียง 10 ธนาคารใหญ่ของประเทศเท่านั้น โดยปัจจุบันเพิ่มเป็น 18 ธนาคารทั้งเขตเมืองและชนบท รวมถึงธนาคารต่างประเทศก็สามารถปล่อยกู้ในเกณฑ์เดียวกันได้
ยุโรป
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3369.19 เพิ่มขึ้น 40.11 (1.2%)
- DAX ปิดที่ 11715.37 เพิ่มขึ้น 152.63 (1.32%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7189.65 เพิ่มขึ้น 72.5 (1.02%)
- FTSE MIB ปิดที่ 20715.49 เพิ่มขึ้น 392.9 (1.93%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 20563.16 เพิ่มขึ้น 144.35 (0.71%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6467.4 เพิ่มขึ้น 61.9 (0.97%)
- Shanghai ปิดที่ 2883.1 เพิ่มขึ้น 59.27 (2.1%)
- Hang Seng ปิดที่ 26291.84 เพิ่มขึ้น 557.62 (2.17%)
- SET ปิดที่ 1637.26 เพิ่มขึ้น 5.86 (0.36%)
- KOSPI ปิดที่ 1939.9 เพิ่มขึ้น 12.73 (0.66%)
- BSE Sensex ปิดที่ 37402.49 เพิ่มขึ้น 52.16 (0.14%)
อเมริกา
- Dow 30 ปิดที่ 26135.79 เพิ่มขึ้น 249.78 (0.96%)
- S&P500 ปิดที่ 2923.65 เพิ่มขึ้น 34.97 (1.21%)
- Nasdaq ปิดที่ 8002.81 เพิ่มขึ้น 106.82 (1.35%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 56.16 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.35 (2.46%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 59.77 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.13 (1.93%)
- ราคาทองคำ ปิดที่ 1505.15 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง -18.45 (-1.21%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC