- สัปดาห์นี้มีกำหนดการประชุมและแถลงการณ์ของธนาคารกลางหลายแห่ง ประกอบไปด้วย 1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.0% ด้วยความเป็นไปได้มากถึง 84.2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 2. ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.10% และมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ต่อไปแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้าแล้วก็ตาม 3. ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางนอร์เวย์ และธนาคารกลางอังกฤษ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดิม แต่อาจมีการส่งสัญญาณ (Forward Guidance) เพื่อเตรียมการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตหากจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางอังกฤษที่มีประเด็น Brexit เป็นปัจจัยเสี่ยงในช่วงเดือนตุลาคมนี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญรอบสัปดาห์ 1. การลงทุนสินทรัพย์ถาวรจีน (Fixed Asset Investment) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มเติมของบริษัทและรัฐวิสาหกิจในประเทศจีน หลังจากที่ทางการจีนเดินหน้าเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.6% (YoY) ลดลงจากครั้งก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 5.7% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวยังคงมีความผันผวนสะท้อนความไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจ 2. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน (Industrial Production) ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจและการค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.2% (YoY) เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้าที่ 4.8% (YoY) 3. German ZEW Economic Sentiment ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองทางเศรษฐกิจเยอรมนีของนักลงทุนสถาบัน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะยังอยู่ในแดนลบ หรือมุมมองเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นการติดลบ 17 จาก 18 เดือนล่าสุด ที่ระดับ -38.0 จุด
- คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เพิ่มสินค้าเกษตรจำพวกเนื้อหมูและถั่วเหลืองเข้าในรายการยกเว้นการขึ้นภาษีเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจก่อนเริ่มเจรจากันอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากช่วงคืนวันพฤหัสบดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีการยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากจีน รวมไปถึงการเลื่อนการขึ้นภาษีครั้งใหม่ออกไป 14 วันของฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งส่งสัญญาณประนีประนอมทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในค่ำวันเดียวกันกลับมีสัญญาณของความตึงเครียดอีกครั้ง จากการที่เรือพิฆาต เวย์น อี.เมเยอร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เคลื่อนที่เข้าใกล้หมู่เกาะพาร์ราเซล ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองระหว่างไต้หวัน เวียดนาม และจีน ส่งผลให้โฆษกกองทัพเรือจีนออกมาประณามว่าเป็นการยั่วยุ ซึ่งส่งสัญญาณความตึงเครียดอีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์คาดว่ากรณีการรุกล้ำพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการเจรจาการค้าอย่างมีนัยสำคัญ
- โดรนโจมตีโรงน้ำมันในเมือง Buqyaq และ Khurais ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นของบริษัท Saudi Aramco ที่มีกำลังการผลิตถึง 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหตุโจมตีดังกล่าวส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิตลง 50% สร้างความกังวลต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเดินหน้าตอบโต้โดยส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มฮูตี ซึ่งคาดว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าพร้อมโจมตีอิหร่านซึ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้หากมีหลักฐานที่ชัดเจน พร้อมกับดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำมันในระบบน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อลดผลกระทบด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านอิหร่านออกมาปฏิเสธว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นกว่า 16% ก่อนที่จะย่อตัวเล็กน้อยลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 9% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบ 10 ปี
- คลังรับบาทแข็งกระทบส่งออกและท่องเที่ยว วันศุกร์ที่ผ่านมา อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผย การที่เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นสูงสุดสู่ระดับ 30.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อภาคการส่งออกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลตลาดการเงินให้มีเสถียรภาพ ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผย 8 เดือนที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวฟื้น 3.27% (YoY) รวม 2 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว 2.61% (YoY) โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนสูงสุด 1.002 ล้านคน ขยายตัว 15.62% ขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียขยายตัวสูงสุด 26.48%
ภาวะตลาดวานนี้
- สัญญาณภาวะ Risk on ปรากฏต่อเนื่อง ทั้งแนวโน้มราคาทองคำที่ปรับตัวลงต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จากระดับต้นสัปดาห์ที่ 1.55% สู่ระดับ 1.90% ประกอบกับความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตลาดยังคงรอจับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า
- ค่าเงินบาทแข็งค่าสู่ระดับ 30.43 บาท/ดอลลลาร์ แข็งสุดในรอบ 6 ปี หลัง ECB กลับมาใช้มาตรการ QE อีกครั้ง วันศุกร์มียอดซื้อตราสารหนี้ไทยราว 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นระยะสั้น 9,000 ล้านบาท และระยะยาว 4,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการซื้อสุทธิในระดับสูง เมื่อเทียบตั้งแต่ช่วงต้นเดือน (1-12 ก.ย.) ที่ขายสุทธิราว 6,600 ล้านบาท
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 27219.52 เพิ่มขึ้น 37.07 (0.14%)
- S&P 500 ปิดที่ 3007.39 ลดลง -2.18 (-0.07%)
- Nasdaq ปิดที่ 8176.71 ลดลง -17.75 (-0.22%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 12468.53 เพิ่มขึ้น 58.28 (0.47%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7367.46 เพิ่มขึ้น 22.79 (0.31%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3550.11 เพิ่มขึ้น 11.25 (0.32%)
- FTSE MIB ปิดที่ 22181.41 เพิ่มขึ้น 98.24 (0.44%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 21988.29 เพิ่มขึ้น 228.68 (1.05%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6669.2 เพิ่มขึ้น 14.3 (0.21%)
- Shanghai ปิดที่ 3031.24 เพิ่มขึ้น 22.42 (0.75%)
- SZSE Component ปิดที่ 9919.8 ลดลง 0 (0%)
- China A50 ปิดที่ 13979.67 เพิ่มขึ้น 192.93 (1.4%)
- Hang Seng ปิดที่ 27352.69 เพิ่มขึ้น 265.06 (0.98%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 10827.55 เพิ่มขึ้น 37.2 (0.34%)
- SET ปิดที่ 1661.96 เพิ่มขึ้น 1.28 (0.08%)
- KOSPI ปิดที่ 2049.2 เพิ่มขึ้น 17.12 (0.84%)
- IDX Composite ปิดที่ 6334.84 ลดลง -7.33 (-0.12%)
- BSE Sensex ปิดที่ 37384.99 เพิ่มขึ้น 280.71 (0.76%)
- PSEi Composite ปิดที่ 7992.32 เพิ่มขึ้น 47.89 (0.6%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 54.84 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -0.25 (-0.45%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 60.15 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -0.23 (-0.38%)
- ราคาทองคำ ปิดที่ 1496 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง -11.4 (-0.76%)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- Prachachat