- เยอรมนีรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังเยอรมนีรายงานตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 3/2019 ขยายตัว 0.1% (QoQ) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัว -0.1% (QoQ) ซึ่งส่งผลให้เยอรมนีรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ซึ่งหมายถึงการที่ตัวเลข GDP หดตัว 2 ไตรมาสติด โดยสาเหตุการเติบโตในระดับต่ำในครั้งนี้ ยังคงเป็นผลจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัว อุปสงค์ที่ชะลอตัว และจากแรงกดดันของสงครามการค้าที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมา
- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้สหภาพยุโรป (EU) มีกำหนดประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.7% (YoY) ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้าที่ระดับเดียวกัน ส่วนสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดค้าปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) ประจำเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 0.2% (MoM) และ 0.4% (MoM) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ -0.3% (MoM) และ -0.2% (MoM) ตามลำดับ สะท้อนภาคการบริโภคที่กลับมาขยายตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา
- จีนเดินหน้าเรียกร้องสหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าต่อเนื่อง วานนี้ เกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนให้สัมภาษณ์ว่า สงครามการค้าครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ดังนั้นการที่จะยุติมัน ก็ควรจะยกเลิกภาษีดังกล่าว โดยการยกเลิกภาษีนำเข้านี้จะเป็นใจความสำคัญของข้อตกลงเฟส 1 ความคลุมเครือว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ ส่งผลให้สงครามการค้ายังเผชิญความไม่แน่นอนต่อไป หลังจากที่วานนี้ทางการจีนได้ปฏิเสธที่จะรับปากซื้อสินค้าเกษตรมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นวงเงินที่จีนมองว่าสูงเกินไป
- ECB ชี้ เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ถดถอย สอดคล้องมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หลุยส์ เดอ กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้สัมภาษณ์ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปถดถอยอยู่ในระดับต่ำ แต่กำลังเผชิญภาวะการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและค่าเฉลี่ย สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักข่าว Reuters ที่พบว่าโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหภาพยุโรปในปี 2019 และ 2020 ลดลงจาก 30% สู่ระดับ 25% และ 35% สู่ 30% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวยังคงระบุว่า มาตรการของ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่ยังคงอยู่ในภาวะที่จำกัดด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และอุปสรรคที่จะประสาน 19 ประเทศใน EU ให้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนต่ำกว่าคาด วานนี้ทางการจีนเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนตุลาคม ออกมาขยายตัว 4.7% (YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% (YoY) และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 5.8% (YoY) จากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง
สรุปภาพรวมตลาดวานนี้
- ดัชนี Dow Jones ปิดลบเล็กน้อย สวนทาง S&P500 ที่ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งจากผลประกอบการของหุ้น Walmart ที่เป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งประกาศออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาคการบริโภคสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง แต่นักลงทุนยังคงกังวลกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ยังไร้ข้อตกลง ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบจากตัวเลข GDP ของเยอรมนี ที่ออกมาขยายตัวลดลงในไตรมาส 3 ของปี 2562 เหลือเพียง 0.1% และยอดค้าปลีกของอังกฤษที่ออกมาลดลงเช่นกัน ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นด้านฝั่งตลาดหุ้นยุโรปไป
- ตลาดน้ำมันปิดลบจากสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ออกมามากกว่าคาด ทำให้ตลาดกังวลภาวะน้ำมันล้นตลาด ในขณะที่ฝั่งอุปสงค์ยังคงจำกัด ด้านตลาดทองคำปิดบวกจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ช่วยหนุนให้นักลงทุนเข้ามาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 27781.96 ลดลง -1.63 (-0.01%)
- S&P500 ปิดที่ 3096.63 เพิ่มขึ้น 2.59 (0.08%)
- Nasdaq ปิดที่ 8479.02 ลดลง -3.08 (-0.04%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 13180.23 ลดลง -49.84 (-0.38%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7292.76 ลดลง -58.45 (-0.8%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3688.81 ลดลง -10.69 (-0.29%)
- FTSE MIB ปิดที่ 23481.35 ลดลง -97.08 (-0.41%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 23141.55 ลดลง -178.32 (-0.76%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6735.1 เพิ่มขึ้น 36.7 (0.55%)
- Shanghai ปิดที่ 2909.87 เพิ่มขึ้น 4.63 (0.16%)
- SZSE Component ปิดที่ 9746.56 เพิ่มขึ้น 58.71 (0.61%)
- China A50 ปิดที่ 13950.66 ลดลง -14.04 (-0.1%)
- Hang Seng ปิดที่ 26323.69 ลดลง -247.77 (-0.93%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 11450.42 ลดลง -17.41 (-0.15%)
- SET ปิดที่ 1609.47 ลดลง -5.67 (-0.35%)
- KOSPI ปิดที่ 2139.23 เพิ่มขึ้น 16.78 (0.79%)
- IDX Composite ปิดที่ 6098.95 ลดลง -43.55 (-0.71%)
- BSE Sensex ปิดที่ 40286.48 เพิ่มขึ้น 170.42 (0.42%)
- PSEi Composite ปิดที่ 7933.71 ลดลง -13.76 (-0.17%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 56.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.16 (-0.28%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดที่ 62.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.04 (0.06%)
- ราคาทองคำปิดที่ 1473.45 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 10.15 (0.69%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters