×

Goldman Sachs คาดหากโควิด-19 ระบาดเวฟ 2 ในสหรัฐฯ Fed ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ, WHO เตือนไวรัสโคโรนา 2019 อาจระบาดอีก 4-5 ปี: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (15 พ.ค. 2563)

โดย FINNOMENA
15.05.2020
  • LOADING...
  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศตัวเลขยอดค้าปลีก และค้าปลีกพื้นฐานประจำเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -12.0% และ -8.6% ตามลำดับ หดตัวมากขึ้นจากเดือนมีนาคม สืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่เยอรมนีมีกำหนดประกาศ GDP ประจำไตรมาส 1/20 เบื้องต้น ซึ่งคาดว่าจะหดตัว 2.2% (QoQ) หลังแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับความต้องการซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมและรถยนต์ทั่วโลกที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนจีนมีกำหนดประกาศดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 1.5% (YoY) ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -1.1% (YoY) หลังภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเมื่อเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 มีสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อภาคอุตสาหกรรมในเวลานั้นด้วย ส่งผลให้ฐานการเปรียบเทียบเดิมต่ำ

 

  • Goldman Sachs คาดหากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดตัวลงอีกครั้ง ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ถึงแม้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed จะแถลงยืนยันก่อนหน้านี้ว่า Fed ยังมีเครื่องมือนโยบายการเงินที่ดีเหลืออยู่ และไม่ได้พิจารณานำนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้แต่อย่างใด
  • แพทย์หญิงซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า โควิด-19 อาจแพร่รระบาดไปอีก 4-5 ปี หลังการพัฒนาวัคซีน ณ ตอนนี้ ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผลิต ความปลอดภัย รวมถึงสิทธิ์การกระจายและได้รับวัคซีนอย่างเป็นธรรม และเชื่อว่าการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงมาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อจะเป็นตัวชี้วัดว่าการแพร่ระบาดจะดำเนินต่อไปอีกยาวนานเพียงใด

 

  • เชเลีย แบร์ อดีตหัวหน้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ วิจารณ์เรื่องการให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงที่ให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ต้องรักษาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม เจอโรม พาวเวลล์ มีมุมมองตรงกันข้ามว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลในขณะนี้ เนื่องจากเสถียรภาพธนาคารต่างๆ ยังแข็งแกร่งและมีเงินทุนสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินครั้งที่แล้ว

 

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ออกมาที่ 2.981 ล้านตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.5 ล้านตำแหน่ง แต่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 3.176 ล้านตำแหน่ง โดยวิกฤตโควิด-19 ยังสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา

 

ภาวะตลาดวานนี้

  • แม้มีแรงกดดันจากตัวเลขขอสวัสดิการว่างงานที่ออกมาสูงกว่าคาด แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้ โดยได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงาน จากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวลงมาแรง อาทิ หุ้นเจพีมอร์แกน พุ่ง 4.15% และหุ้นฮัลลิเบอร์ตัน พุ่ง 4.3% เป็นต้น สวนทางกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงจากความกังวลว่าโควิด-19 จะแพร่ระบาดหนักอีกระลอก หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อไปอีกระยะ

 

  • สัญญาน้ำมันปรับตัวขึ้นหลังสำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA คาดการณ์ว่าสต๊อกน้ำมันดิบทั่วโลกอาจเริ่มลดลง แสดงถึงการลดกำลังการผลิตที่ผ่านมาเริ่มได้ผล และส่งผลให้ปริมาณน้ำมันยังไม่ล้นตลาด ด้านสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

 

สหรัฐฯ

  • Dow 30 อยู่ที่ 23625.34 เพิ่มขึ้น 377.37 (1.62%)
  • S&P 500 อยู่ที่ 2852.5 เพิ่มขึ้น 32.5 (1.15%)
  • Nasdaq อยู่ที่ 8943.72 เพิ่มขึ้น 80.55 (0.91%)

 

ยุโรป

  • DAX อยู่ที่ 10337.02 ลดลง -205.64 (-1.95%)
  • FTSE 100 อยู่ที่ 5741.54 ลดลง -162.51 (-2.75%)
  • Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 2760.23 ลดลง -50.32 (-1.79%)
  • FTSE MIB อยู่ที่ 16867.76 ลดลง -315.68 (-1.84%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 อยู่ที่ 19914.78 ลดลง -352.27 (-1.74%)
  • S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5328.7 ลดลง -93.2 (-1.72%)
  • Shanghai อยู่ที่ 2870.34 ลดลง -27.71 (-0.96%)
  • SZSE Component อยู่ที่ 10962.15 ลดลง -112.45 (-1.01%)
  • China A50 อยู่ที่ 13386.39 ลดลง -142.23 (-1.05%)
  • Hang Seng อยู่ที่ 23829.74 ลดลง -350.56 (-1.45%)
  • Taiwan Weighted อยู่ที่ 10780.88 ลดลง -157.39 (-1.44%)
  • SET อยู่ที่ 1280.4 ลดลง -14.15 (-1.09%)
  • KOSPI อยู่ที่ 1924.96 ลดลง -15.46 (-0.8%)
  • IDX Composite อยู่ที่ 4513.83 ลดลง -40.52 (-0.89%)
  • BSE Sensex อยู่ที่ 31122.89 ลดลง -885.72 (-2.77%)
  • PSEi Composite อยู่ที่ 5654.7 เพิ่มขึ้น 28.45 (0.51%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 27.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.37 (1.46%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 31.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.04 (0.14%)
  • ราคาทองคำ อยู่ที่ 1732.93 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 16.04 (0.94%)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising