- แบงก์รัฐเตรียมประชุมปรับดอกตามแบงก์ชาติ โดย ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานสมาคมแบงก์รัฐเผย จากนี้ไปทางสมาคมคงต้องหารือถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของแบงก์รัฐว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในเร็วๆ นี้ โดยแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์รัฐคงจะต้องปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งในส่วนของ ธอส. เอง ก็คงจะพิจารณาปรับลดลงเช่นกัน ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีกล่าวว่า ต้องติดตามการปรับดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากประจำของระบบธนาคารลดลง โดยเฉพาะ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตามการปรับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการปรับครั้งนี้อาจจะมาจากการขอความร่วมมือให้ลดดอกเบี้ยลดลงได้ เนื่องจากหากดูข้อมูลในอดีตเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2559 และเดือนมิถุนายน ปี 2560 พบว่า แม้ กนง. ไม่มีมติลดดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับดอกเบี้ยลงรอบละ 1 ครั้ง ดังนั้น หากดอกเบี้ยมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจเห็นการขอความร่วมมือให้มีการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในระยะอันใกล้นี้ด้วย
- จับตาดุลการค้าจีน โดยวันนี้ทางการจีนมีกำหนดประกาศตัวเลขดุลการค้า การขยายตัวการส่งออกและนำเข้า ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนจะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าทั้งคู่ โดยที่ยอดการนำเข้าถูกคาดการณ์ว่า หดตัว -7.6% (YoY) ลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ระดับ -7.3% (YoY) ขณะที่ยอดการส่งออกถูกคาดการณ์ว่า หดตัว -2.2% (YoY) ซึ่งลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ -1.3% (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าจีน น่าจะเกินดุลลดลงสู่ระดับ 43,200 ล้านดอลลาร์ สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนกรณีสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง ซึ่งกดดันเศรษฐกิจทั่วโลก และการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
- สถานการณ์อินเดีย-ปากีสถานตึงเครียด หลังอินเดียประกาศลดสถานะของแคว้นชัมมูและแคชเมียร์จากการเป็นรัฐ ซึ่งมีอำนาจการปกครองตนเอง เป็นดินแดนสหภาพซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียอย่างเป็นทางการ พร้อมกับส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายเข้าประจำการ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อระงับเหตุจลาจลที่อาจเกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ปากีสถาน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่พิพาทมาอย่างยาวนานจากการอ้างกรรมสิทธิ์ของทั้งอินเดียและปากีสถาน โดยวานนี้ ทางการปากีสถานประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับอินเดีย และระงับการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งสร้างความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศอีกครั้ง หลังจากที่มีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีกครั้ง ด้วยการทวีตข้อความถึง Fed ว่า ปัญหาของธนาคารกลางคือการมีทิฐิมากเกินกว่าที่จะยอมรับความผิดพลาดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป และลดสภาพคล่องในระบบ (QT) มากเกินไป ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับประธาน Fed สาขาชิคาโกที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากขึ้น
- วานนี้ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.50% ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียแปซิฟิกที่ลดดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางนิวซีแลนด์ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.00% และธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ย 0.35% สู่ระดับ 5.40% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางเริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ขณะที่ ธปท. เชื่อมั่นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาวะเงินบาทแข็งค่าได้
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นไทยเซอร์ไพรส์ กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย 0.25% เหลือ 1.50% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เจอแรงขายทันที โดย KBANK -3.46%, BBL -3.11% และ SCB -1.50% เหตุกังวลกระทบกำไรแบงก์ใหญ่ เนื่องจากไตรมาส 2 พากันประกาศกำไรขยายตัวจากกำไรอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่กลุ่ม Finance เช่น KTC +1.62%, MTC +5.79% และ SAWAD +5.50% ขานรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลด จากที่มีแนวโน้มต้นทุนทางการเงินลดลง ส่งผลให้ SET ปิดที่ 1,669.44 ลดลง -2.04 จุด (-0.12%)
- ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน หลังทรัมป์ทวีตข้อความกดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่สินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงยังคงสามารถ Outperform โดยราคาทองคำอยู่ที่ระดับ 1514.65 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 30.45 (2.05%) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.672% ก่อนดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1.734% ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวลงมาทดสอบแนวรับ 51 ดอลลาร์/บาร์เรล จากความกังวลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลก สืบเนื่องจากสงครามการค้าทวีความรุนแรง
ยุโรป
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3309.99 เพิ่มขึ้น 18.33 (0.56%)
- DAX ปิดที่ 11650.15 เพิ่มขึ้น 82.19 (0.71%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7198.7 เพิ่มขึ้น 27.01 (0.38%)
- FTSE MIB ปิดที่ 20538.85 ลดลง -92.89 (-0.45%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 20516.56 ลดลง -68.75 (-0.33%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6519.5 เพิ่มขึ้น 41.4 (0.64%)
- Shanghai ปิดที่ 2768.68 ลดลง -8.88 (-0.32%)
- Hang Seng ปิดที่ 25997.03 เพิ่มขึ้น 20.79 (0.08%)
- SET ปิดที่ 1669.44 ลดลง -2.04 (-0.12%)
- KOSPI ปิดที่ 1909.71 ลดลง -7.79 (-0.41%)
- BSE Sensex ปิดที่ 36690.5 ลดลง -286.35 (-0.77%)
อเมริกา
- Dow 30 ปิดที่ 26007.07 ลดลง -22.45 (-0.09%)
- S&P500 ปิดที่ 2883.98 เพิ่มขึ้น 2.21 (0.08%)
- Nasdaq ปิดที่ 7862.83 เพิ่มขึ้น 29.56 (0.38%)
Commodity
- ราคาน้ำมัน Crude Oil WTI ปิดที่ 51.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -2.46 (-4.59%)
- ราคาน้ำมัน Brent Oil ปิดที่ 56.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -2.6 (-4.41%)
- ราคาทองคำ Gold ปิดที่ 1514.65 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 30.45 (2.05%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- Markit