- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้จีน เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะออกมาที่ 49.6, 36.8, 40.7 และ 43.0 จุดตามลำดับ ฟื้นตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าจากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้ากลับมาได้บางส่วน และสะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับหดตัวทั้ง 4 ประเทศ
- โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจเลื่อนการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) ออกไปเป็นช่วงเดือนกันยายนจากกำหนดการเดิมในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้เขายังพิจารณาเชิญประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมด้วย เนื่องจากมองว่ากลุ่ม G7 ปัจจุบันล้าสมัย และไม่สะท้อนสถานการณ์โลกอย่างเหมาะสม โดยมีมีการคาดการณ์ว่าหัวข้อหารือจะครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของจีนด้วย
- รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ โดยเน้นไปที่กลุ่มที่ควบคุมโรคได้ดี อันประกอบไปด้วย ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สวนทางท่าทีของสองประเทศอย่างจีนและเกาหลีใต้ ที่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นผ่อนปรนการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นยังมองว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่ ทำให้อาจถูกพิจารณาในรอบต่อไปแทน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศยอดการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Personal Spending) ประจำเดือนเมษายนออกมา -13.6% (MoM) หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และหดตัวแรงกว่าคาดจากระดับ -12.6% สืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภค (PCE) ที่หดตัว -0.5% (MoM) จากอุปสงค์ด้านการบริโภคที่ชะลอตัว
- Goldman Sachs วาณิชธนกิจรายใหญ่ เปิดเผยมุมมองต่อสกุลเงินหยวนของจีนว่า ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ สร้างแรงกดดันให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง และอาจอ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีที่ 7.25 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะฟื้นตัวได้ในที่สุด จากแนวโน้มการไหลออกของเงินลงทุนจากความตึงเครียดข้างต้น ซึ่ง Goldman Sachs เชื่อว่ายังยากที่จะบรรลุข้อตกลงในเร็วๆ นี้
ภาวะตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงหลังทรัมป์แทรกแซงทางการจีนโดยการยกเลิกสถานะพิเศษทางการค้ากับฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้ รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ด้วย ซึ่งสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมา
- สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นหลังมีการคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC จะยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิตออกไป และอาจเลื่อนการประชุมเข้ามาให้ไวขึ้น ลดความกังวลที่อาจเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด ด้านสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นจากความกังวลที่อาจเกิดสงครามการค้าอีกรอบระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สืบเนื่องจากความขัดแย้งในฮ่องกง รวมไปถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลข้างต้น
สหรัฐฯ
- Dow 30 อยู่ที่ 25383.11 ลดลง -17.53 (-0.07%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3044.31 เพิ่มขึ้น 14.58 (0.48%)
- Nasdaq อยู่ที่ 9489.87 เพิ่มขึ้น 120.88 (1.29%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 11586.85 ลดลง -194.28 (-1.65%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 6076.6 ลดลง -142.19 (-2.29%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3050.2 ลดลง -44.27 (-1.43%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 18197.56 ลดลง -153.6 (-0.84%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 21877.89 ลดลง -38.42 (-0.18%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5755.7 ลดลง -95.4 (-1.63%)
- Shanghai อยู่ที่ 2852.35 เพิ่มขึ้น 6.13 (0.22%)
- SZSE Component อยู่ที่ 10746.08 เพิ่มขึ้น 92.58 (0.87%)
- China A50 อยู่ที่ 13266.12 ลดลง -28.83 (-0.22%)
- Hang Seng อยู่ที่ 22961.47 ลดลง -171.29 (-0.74%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 10942.16 ลดลง -2.03 (-0.02%)
- SET อยู่ที่ 1342.85 เพิ่มขึ้น 5.34 (0.4%)
- KOSPI อยู่ที่ 2029.6 เพิ่มขึ้น 1.06 (0.05%)
- IDX Composite อยู่ที่ 4753.61 เพิ่มขึ้น 37.43 (0.79%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 32424.1 เพิ่มขึ้น 223.51 (0.69%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5838.84 เพิ่มขึ้น 268.62 (4.82%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 35.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.94 (5.78%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 35.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.83 (-2.29%)
- ราคาทองคำอยู่ที่ 1728.3 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 6.36 (0.37%)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- InfoQuest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters