- สำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยยอดการส่งออกหดตัว 3.3% กลับมาสู่แดนหดตัวอีกครั้ง หลังจากที่เดือนเมษายนสามารถขยายตัวได้ 3.5% (YoY) อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวยังดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าติดลบ 7.0% (YoY) ส่วนยอดการนำเข้าหดตัว 16.7% (YoY) แย่กว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ -9.7% (YoY) สะท้อนภาวะการบริโภคและนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา สร้างแรงกดดันต่อการบริโภคและการผลิตทั่วโลก รวมไปถึงประเทศจีน ซึ่งแม้จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ซัพพลายเชนที่มีความเชื่อมโยงกันสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ยอดการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตามการหดตัวของภาคการส่งออกที่น้อยกว่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าจีนกลับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 62,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2016
- วันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนพฤษภาคมออกมาที่ 2.509 ล้านตำแหน่ง ซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้ง และเป็นการจ้างงานเพิ่มสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะหดตัว 8.0 ล้านตำแหน่ง โดยภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2,275,000 ตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 225,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการจ้างงานเพิ่มเติมในกลุ่มโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกว่า 1.2 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 13.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 19.5%
- เช้าวันนี้ญี่ปุ่นประกาศ GDP ไตรมาส 1/2020 ออกมาที่ -2.2% (YoY) หดตัวน้อยลงจากการประกาศครั้งก่อนที่ -3.4% (YoY) หลังโควิด-19 กระทบตัวเลขภาคการส่งออก ภาคการผลิต รวมถึงการจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์ฉุกเฉินเพิ่มเติมอาจส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่า 20% ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
- สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และชาติพันธมิตร (OPEC+) มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปจนถึงเดือนกรกฎาคม จากกำหนดการเดิมที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งระบุว่าประเทศที่ผลิตน้ำมันเกินโควตาในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนจะชดเชยโดยการลดกำลังการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม OPEC+ ยังคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกยังคงจะหดตัวประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตลอดทั้งปี 2563 จากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มั่นคง
- American Airlines จ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ระดับสูง และพยายามลดจำนวนพนักงานแบบสมัครใจ โดยมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริหารเป็นระยะเวลา 9 เดือน รวมถึงให้เงินช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลนานกว่า 2 ปี หลังธุรกิจการบินได้รับผลกระทบจากยอดเที่ยวบินที่ลดลง สืบเนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่างๆ
ภาวะตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยทั้งตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างานเริ่มลดลง บ่งบอกถึงภาพรวมเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน หลังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก และตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงจากแรงหนุนดังกล่าว
- สัญญาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากกลุ่ม OPEC ได้จัดประชุมในวันที่ 6 มิถุนายน หรือวันเสาร์เพื่อหารือการลดกำลังการผลิตต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลที่อาจเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลดลงจากตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นฟูแล้ว ส่งผลให้นักลงเริ่มย้ายเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเริ่มเทขายทองคำออกมา และกลับเข้าซื้อหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าว
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 27110.98 เพิ่มขึ้น 829.16 (3.15%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3193.93 เพิ่มขึ้น 81.58 (2.62%)
- Nasdaq อยู่ที่ 9814.08 เพิ่มขึ้น 198.27 (2.06%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 12847.68 เพิ่มขึ้น 417.12 (3.36%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 6484.3 เพิ่มขึ้น 142.86 (2.25%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3384.29 เพิ่มขึ้น 122.62 (3.76%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 20187.51 เพิ่มขึ้น 553.48 (2.82%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 22863.73 เพิ่มขึ้น 167.99 (0.74%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5998.7 เพิ่มขึ้น 6.9 (0.12%)
- Shanghai อยู่ที่ 2930.8 เพิ่มขึ้น 11.55 (0.4%)
- SZSE Component อยู่ที่ 11180.6 เพิ่มขึ้น 41.34 (0.37%)
- China A50 อยู่ที่ 13768.23 เพิ่มขึ้น 56.17 (0.41%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24770.41 เพิ่มขึ้น 404.11 (1.66%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 11479.4 เพิ่มขึ้น 86.17 (0.76%)
- SET อยู่ที่ 1435.7 เพิ่มขึ้น 24.69 (1.75%)
- KOSPI อยู่ที่ 2181.87 เพิ่มขึ้น 30.69 (1.43%)
- IDX Composite อยู่ที่ 4947.78 เพิ่มขึ้น 31.08 (0.63%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 34287.24 เพิ่มขึ้น 306.54 (0.9%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 6465.13 เพิ่มขึ้น 534.96 (9.02%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 39.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.14 (5.72%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 42.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.31 (5.78%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1685.83 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -26.02 (-1.52%)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- InfoQuest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters