เครือข่าย Sustainable Development Solutions Network ภายใต้องค์การสหประชาชาติ เผยรายงานสำรวจและจัดอันดับประเทศที่มีความสุขประจำปี 2018 โดยใช้ 6 ตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อมวลความสุขโดยรวมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ เสรีภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ สุขภาพ การช่วยเหลือสังคมและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำการสำรวจ 156 ประเทศทั่วโลก พบว่า
ฟินแลนด์ขึ้นมาคว้าตำแหน่งประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกประจำปีนี้ไปครอง แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างนอร์เวย์ ประเทศจากแถบสแกนดิเนเวียด้วยกัน โดยมีคะแนนความสุข 7.632 คะแนน ตามมาด้วยนอร์เวย์, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ติดท็อป 5 จากหัวตารางประจำปีนี้ ซึ่งแทบจะเป็นประเทศหน้าเก่าที่เคยได้แชมป์มาแล้วเกือบทั้งหมด
ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในย่านภูมิภาคอาเซียน (อันดับที่ 34) ตามมาด้วยมาเลเซีย (อันดับที่ 35) โดยไทยรั้งอันดับที่ 46 ของโลก และอันดับที่ 3 ในย่านนี้ โดยมีคะแนนความสุขอยู่ที่ 6.072 คะแนน และเมียนมารั้งท้ายในย่านอาเซียน (อันดับที่ 130) ซึ่งประเทศจากทวีปแอฟริกาอย่างซูดานใต้ แอฟริกากลาง และบุรุนดี รั้งอันดับประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลกจากการรายงานครั้งนี้
นอกจากนี้รายงานยังได้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของความสุขในช่วงระหว่างปี 2008-2010 ภายหลังการเกิดวิกฤตซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กับช่วงปี 2015-2017 ที่ผ่านมาพบว่า โตโก เป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงความสุขมากที่สุด 1.191 คะแนน ในขณะที่เพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก็รั้งอันดับต้นๆ จากหัวตาราง ขณะที่ไทยมีคะแนนความสุขเพิ่มขึ้น 0.300 คะแนนเท่านั้น
แต่ดูเหมือนว่า ยูเครน, เยเมน, ซีเรีย, มาลาวี และเวเนซุเอลา จะมีการเปลี่ยนแปลงความสุขในช่วงเวลาดังกล่าวติดลบ เนื่องจากปัญหาสงครามความรุนแรงภายในประเทศ วิกฤตผู้อพยพ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาพุ่งสูงสุดในโลก และมีการคาดการณ์กันว่าจะแตะ 13,000% ในปีนี้ โดยปัจจุบันมีชาวเวเนซุเอลา 3-4 ล้านคนตัดสินใจอพยพออกนอกประเทศแล้ว
โดยรายงานฉบับนี้เป็นรายงานฉบับที่ 6 ของเครือข่าย ที่เกิดขึ้นจากข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีภูฏาน ในปี 2011 ที่ต้องการจะให้ประชาคมโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องความสุขที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวันความสุขโลก
อ้างอิง: