สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า บรรดาชาติสมาชิกในกลุ่มพันธมิตร Wellbeing Economy Governments partnership อย่างฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ และนิวซีแลนด์ ต่างจับมือร่วมกัน โดยมีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อส่งมอบความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันสำหรับผู้คนและโลกใบนี้ภายในปี 2040
เป้าหมายดังกล่าวหมายถึงการละทิ้งชุดความคิดที่ว่าสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เป็นตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าที่ดี และแทนที่ด้วยการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคนโดยสอดคล้องและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
นิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำหญิงของสกอตแลนด์ กล่าวว่า โลกขณะนี้ต้องการโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งเน้นแนวทางความเป็นอยู่ที่ดีของคนมากกว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP
ทั้งนี้ สเตอร์เจียนสนับสนุนรัฐบาลประเทศอื่นๆ ให้พิจารณาแนวทางทางเศรษฐกิจที่เน้นความเป็นอยู่ที่ดี โดยกล่าวว่า วิกฤตโลกหลายครั้ง เช่น ภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤตค่าครองชีพ “ก่อให้เกิดคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และอะไรคือเศรษฐกิจของเรา เศรษฐกิจของเรามีไว้เพื่ออะไร”
สเตอร์เจียนกล่าวว่า การสร้างเศรษฐกิจความเป็นอยู่ที่ดีเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับทุกประเทศ ทุกเวลา และวิกฤตการณ์ในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นยิ่งทำให้ยากขึ้น ดังนั้นจึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน และแม้จะมีความก้าวหน้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องทำ
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับผู้นำในนิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ เวลส์ และฟินแลนด์ ที่เห็นตรงกันว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีต้องครอบคลุมและให้ความสำคัญกับคนมากกว่าตัวเลขเชิงสถิติ โดยประเทศเหล่านี้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดตัวความคิดริเริ่มที่เรียกร้องให้ความเป็นอยู่ที่ดีเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
รายงานระบุว่า ขณะนี้มีบางประเทศแสดงจุดยืนสนใจเข้าร่วมแล้ว อย่างออสเตรเลีย แคนาดา และคอสตาริกา ที่ได้มีการพูดคุยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตร Wellbeing Economy Governments partnership ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยประเทศเหล่านี้ สังคมหลังจากนี้ ต้องเป็นสังคมที่เติบโตควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ Wellbeing Economy Governments partnership ระบุว่า กำลังวางกรอบแนวทางปฏิบัติเพื่อเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในภายหลังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ให้การเติบโตเป็นมากกว่าแค่การเติบโตของ GDP โดยเปรียบเทียบว่าการทำงานของกลุ่มในขณะนี้เป็นเหมือนการสร้างเครื่องบินที่ทุกคนสามารถขึ้นบินร่วมกันได้ทั้งหมด
ทางกลุ่มได้จัดทำรายงานเบื้องต้นเพื่ออธิบายการทำงานของแนวทางดังกล่าว หนึ่งในเนื้อหาสำคัญคือการเน้นย้ำถึงช่องว่างที่กว้างและเพิ่มมากขึ้น ระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรสูงอายุกับประชากรที่มีอายุน้อย โดยประชากรสูงอายุจะมีค่าที่ดีกว่าในตัวชี้วัดต่างๆ ก่อนระบุประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ต้องการการปรับปรุงคือ
- สุขภาพจิต
- ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และ
- ความสามารถในการจ่ายและคุณภาพของที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ทางประเทศผู้จัดทำเน้นย้ำว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมว่าจะกำหนดหรือขยายขอบเขตประเด็นความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมของตนเองมากที่สุด
ด้านบรรดานักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งต่างยกมือสนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่า คำขาดจากนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำของโลกเกี่ยวกับอันตรายของอุณหภูมิโลกที่ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเกณฑ์อุณหภูมิที่สำคัญอย่างยิ่งต่อจุดเปลี่ยนอันตรายของโลกใบนี้ ถือเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นให้นานาประเทศทั่วโลกยุติการหมกมุ่นกับการเติบโตที่มุ่งเน้นการใช้จ่ายทั้งหมด และหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้คน สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด พร้อมย้ำว่าขณะนี้คือเวลาที่ต้องลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งระบุว่า ตัวเลข GDP ที่อาจหมายถึงรายได้ที่มากขึ้น อาจทำให้คนอิ่มท้อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการหามาตรวัดอื่นท่ามกลางเสียงเตือนจากวิกฤตต่างๆ จึงสำคัญและจำเป็นอย่างที่สุด
อ้างอิง: