‘รู้งี้’ เป็นคำพูดที่พบได้บ่อยในหลายๆ เรื่องของชีวิต เช่น วงการหุ้น “รู้งี้ซื้อหุ้น ก. ไว้ ป่านนี้เกษียณไปนานแล้ว เป็นมหาเศรษฐีไปเรียบร้อย” หรือ “รู้งี้ Cut Loss (ตัดขาดทุน) หุ้น ข. ตั้งแต่วันนั้นก็คงมีเงินเพียบเลย ไว้ซื้อหุ้นดีๆ ตอน SET Index อยู่ที่ 969 จุด”
เช่นเดียวกับเรื่องรักๆ และชีวิตคู่ที่หลายคนอาจเคยคิดว่า ‘รู้งี้’ เพราะการเลือกคู่ครอง นอกจากความรักแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องครอบครัวของแต่ละฝั่ง ไหนจะเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่กลายเป็นปัญหากวนใจของคู่รักหลายคู่เมื่อตัดสินใจแต่งงานกัน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าฐานะทางการเงินตอนคบหาดูใจกันกับชีวิตหลังแต่งงานมักจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง จากว่าที่สามีสายเปย์ ทุกเทศกาลต้องมีเซอร์ไพรส์ แต่พอจบงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้แล้ว สิ่งที่ถาโถมเข้ามาอาจกลายเป็นใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน เผลอๆ เจอหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้าไปอีก ทำให้แทนที่จะร่วมสร้างครอบครัวกลับกลายเป็นต้อง ‘ร่วมกันใช้หนี้’ จนปัญหากัดกร่อนชีวิตรัก ทำให้คู่รักบางคู่ต้องวางแผนการมีบุตรไว้ลำดับท้ายๆ เนื่องจากภาระหนี้ที่เหนือความคาดหมาย
ดังนั้นก่อนจะจดทะเบียนสมรสกับใคร สิ่งที่ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวควรทำคือการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่สมรส (ภาษาการเงินธุรกิจคือ Due Diligence) นั่นเอง แต่ไม่ใช่แค่ถามว่าเธอมีหนี้อะไรบ้าง ฉันจะได้เตรียมใจช่วยผ่อน แต่เราแนะให้นำหลักการเงินง่ายๆ 2 ข้อนี้มาใช้กันดู
เงื่อนไขแรกจะคล้ายกับสมการพื้นฐานทางบัญชี 101 ที่ว่า ‘สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน’
ตัวอย่างง่ายๆ คือบ้านที่เราอยู่ถือเป็น ‘สินทรัพย์’ เงินกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านถือเป็น ‘หนี้สิน’ เงินออมเพื่อเกษียณหรือสะสมในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือว่าเป็น ‘ทุน’
โดยหากมูลค่าสินทรัพย์รวมของว่าที่สามีภรรยา เช่น บ้าน รถ หุ้น นาฬิกา ที่ดินเปล่า คอนโดฯ รวมกันแล้วมีมูลค่ามากกว่าภาระหนี้สินโดยรวม อันนี้ถือว่า ‘ผ่าน’ เพราะถ้าหากว่าสินทรัพย์มีมูลค่าน้อยกว่าหนี้รวม แถมเงินเก็บก็คงไม่มี คงหนีไม่พ้นคำว่าหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้มากกว่าสินทรัพย์) แปลว่าคุณว่าที่สามีภรรยากำลังเข้าสู่โหมด ‘ล้มละลาย’ แล้ว กล่าวคือหากนำสินทรัพย์มาขายจนหมดแล้วก็ยังไม่พอใช้หนี้นั่นเอง
ยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกไม่ได้แปลว่าว่าที่คู่ชีวิตของคุณจะมั่นคง เงื่อนไขสำคัญถัดมาของการมีหนี้คือมีกำลังจ่ายแค่ไหน กลายเป็นเงื่อนไขที่สองที่จะต้องพิจารณา
โดยอัตราส่วนทางการเงินพื้นฐานที่ใช้วัดคือ Debt Service Coverage (DSCR) ซึ่งเราสามารถนำมาดัดแปลงใช้ได้คือ ‘รายรับประจำต่อเดือนจะต้องมากกว่าภาระหนี้และดอกเบี้ยต่อเดือน’
ถ้าในเชิงบริษัท DSCR ต้องมากกว่า 1 เท่าเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้หมุนไปได้ แต่ในเชิงครัวเรือน เรามองว่าอย่างน้อยต้องมากกว่า 2.5 เท่าขึ้นไป เพื่อให้เหลือเงินไปออม เที่ยวพักผ่อน เผื่อไว้เจ็บป่วย และใช้จ่ายทั่วไป
เช่น หากมีภาระหนี้และดอกเบี้ยเดือนละ 30,000 บาท ก็ควรมีรายได้อย่างน้อย 75,000 บาท แปลว่าหลังชำระหนี้แล้ว คู่รักของคุณจะต้องเหลือเงิน 45,000 บาทเพื่อแบ่งเอาไปออม 20% ของเงินเดือน (15,000 บาท) และยังเหลืออีก 40% (30,000 บาท) สำหรับไปใช้ชีวิตกันสองคน แต่ถ้าหากคุณเจอว่าที่สามีภรรยาที่มี DSCR ระดับ 5-10 เท่าขึ้นไปก็เตรียมตัวสบายได้เลย
แต่ขอย้ำว่าอัตราส่วนสำคัญกว่าขนาด เพราะต่อให้ว่าที่สามีภรรยามีเงินเดือน 200,000 บาท แต่ DSCR เท่ากับ 0.7 เท่า อันนี้แปลว่าเขาหรือเธอเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง อาจต้องใช้ตัวช่วยมาอุดรูรั่ว เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล แต่ต้องแบกอัตราดอกเบี้ยมหาโหด 25% จนการเงินของครอบครัวก็อาจพังได้
สุดท้ายอยากบอกว่าการใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่การที่เราจะไปเกาะหรือพึ่งพาใคร แต่คือการใช้ชีวิตร่วมกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมสร้างไปด้วยกัน ดังนั้นการเปิดใจ เปิดเผยสถานะการเงินซึ่งกันและกันก่อนแต่งงานถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อให้กระดุมเม็ดแรกถูกกลัดในจุดเริ่มต้นเดียวกัน แม้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ‘ลบ’ ก็ไม่เสียหายอะไร หากจะถอยกลับมาแก้ไขให้พร้อมก่อนจะก้าวเดินเคียงคู่ต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ที่สำคัญต้องดูให้ดี หากเจอแจ็กพ็อต ก้าวผิดไปนิดเดียวก็อาจนำหายนะมาสู่ชีวิตได้ ไม่อยากได้ยินว่า “รู้งี้อยู่เป็นโสดคนเดียว สบายกว่ากันเยอะเลย”
คำเตือน: บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนหรือชักชวนให้ผู้อ่านลงทุนในหลักทรัพย์ใดๆ ตามที่ปรากฏในบทความ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
พิเศษ! เพื่อผู้อ่าน THE STANDARD คลิก https://bit.ly/3gWgAgp รับของที่ระลึก โปรโมชันพิเศษฟรีจากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง