×

รู้จัก ‘กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ’ ศึกใหม่คลัง vs. แบงก์ชาติ จะบีบ กนง. ลดดอกเบี้ยได้จริงหรือ?

28.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หลายฝ่ายกำลังจับตาการเปลี่ยนแปลงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หลัง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่าอาจทบทวนกรอบดังกล่าว
  • ทำให้บางคนตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอาจต้องการปรับขึ้นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อบีบบังคับให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
  • จากการสำรวจเศรษฐกิจที่มีความใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่า มีการตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-4% ซึ่งนับเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับไทย
  • ด้านนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. จะต้องหารือกันภายใต้ ‘ชุดข้อมูลเดียวกัน’ เนื่องจากการปรับกรอบเงินเฟ้อย่อมมีผลต่อการตีความของตลาดการเงิน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากหารือครั้งแรก ระหว่าง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

 

พิชัยได้เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับผู้ว่าการ ธปท. โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ’ พร้อมส่งสัญญาณว่า กระทรวงการคลังอาจต้องการปรับเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้อปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 1-3% โดยให้เหตุผลว่า ต้องการพิจารณาว่ากรอบดังกล่าวยังเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจหรือไม่ หลังใช้มาราว 3-4 ปีแล้ว

 

ขณะที่เศรษฐพุฒิแสดงความเห็นกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่จะให้ ธปท. ปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

 

โดยเศรษฐพุฒิมองว่า กรอบเงินเฟ้อที่ระดับ 1-3% ในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ณ ขณะนี้แล้ว หากปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้นอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคา และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมต้องปรับสูงขึ้นตามมาในท้ายที่สุด

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามหลายต่อหลายครั้งของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

 

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 สูงขึ้น 1.54%YoY สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อไทยเพิ่งเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

 

รู้จัก ‘เป้าหมายเงินเฟ้อ’

 

แม้จะไม่มีมาตรวัดใดๆ ที่สามารถชี้ชัดได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเท่าไรเรียกว่า ‘ดี’ แต่จากการสำรวจเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ของธนาคารกลางประเทศและเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป (ECB) พบว่า ได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2-3%

 

ขณะที่ 5 ประเทศอาเซียน ตามการจัดกลุ่มของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แก่ อินโดนีเซีย, ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็พบว่า ตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-4%

 

ตามบทความของ IMF ระบุว่า การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ หมายถึง การควบคุมการเพิ่มขึ้นของระดับราคา โดยภายใต้กรอบแนวคิดนี้ ธนาคารกลางจะประเมินและประกาศคาดการณ์เงินเฟ้อหรือ ‘เป้าหมายเงินเฟ้อ’ ต่อสาธารณชน จากนั้นธนาคารกลางก็จะพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้เป้าหมายนั้นผ่านเครื่องมือนโยบายการเงิน เช่น ‘อัตราดอกเบี้ย’ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเคลื่อนไปในทิศทางตรงข้ามกัน

 

 

ทำไมธนาคารกลางต้องกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ?

 

ไม่ใช่ทุกธนาคารที่จะมีนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ยกตัวอย่าง องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางในอาเซียนก็มีสิงคโปร์และมาเลเซียอย่าง Monetary Authority of Singapore (MAS) และ Bank Negara Malaysia ก็ไม่มีนโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจน

 

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางส่วนใหญ่ล้วนมีเป้าหมายใน ‘การรักษาเสถียรภาพด้านราคา’ (Price Stability) โดย MAS ก็ระบุไว้ในเว็บไซต์ว่า โดยเฉลี่ยแล้วอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสิงคโปร์ที่ต่ำกว่า 2% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตนั้น สอดคล้องกับ ‘เสถียรภาพด้านราคา’ โดยรวมในระบบเศรษฐกิจ

 

โดยในบทความของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ เรื่อง ‘ทำไม Fed ต้องตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ในระยะยาวกว่า (Over the longer run)’ 

 

Fed อธิบายว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มองว่า เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% สอดคล้องกับเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด (Maximum Employment) และเสถียรภาพด้านราคาของ Fed มากที่สุด

 

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมีประโยชน์อย่างไร?

 

Fed อธิบายอีกว่า เป้าหมายเงินเฟ้อมีข้อดีคือ จะช่วยให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับการออม การกู้ยืม และการลงทุน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจทำงานได้ดี

 

ดังนั้น หากขาดเสถียรภาพด้านราคา หรือราคามีการเปลี่ยนแปลงผันผวนอยู่ตลอดเวลา ประชาชนทั่วไป นักลงทุน และธุรกิจต่างๆ ก็อาจพบว่าการวางแผนและลงทุนสำหรับอนาคตเป็นเรื่องยาก

 

อัตราเงินเฟ้อ ‘ต่ำไป’ หรือ ‘สูงไป’ จะเป็นอย่างไร?

 

อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปอาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลงได้ กล่าวคือ หากเกิดภาวะเงินเฟ้อซึ่งมาจากอุปสงค์ที่ลดลง ก็อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้คนตกงาน การลงทุนและการใช้จ่ายลดลง เกิดความตึงเครียดทางการเงินมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องลดราคาเพื่อดึงดูดผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อสูงเกินไปจนเกินการควบคุมก็จะส่งผลเสียต่อกำลังซื้อของผู้คน โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงและผันผวนก็จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมากเป็นพิเศษ และยังทำให้ธุรกิจต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยราคาที่สูงขึ้นยังอาจกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคและยอดขายของธุรกิจอีกด้วย

 

สำหรับผู้ออมเงินและผู้เกษียณ อัตราเงินเฟ้อที่สูงยังส่งผลต่อเงินออม และกัดกร่อนกำลังซื้ออย่างรวดเร็วได้อีกด้วย

 

ความสัมพันธ์ ‘กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ’ และ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้ย้ำมาตลอดว่า จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย ได้แก่ เสถียรภาพด้านราคา (อัตราเงินเฟ้อ) ในระยะปานกลาง เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

นโยบายการเงินที่ว่านี้คือ เครื่องมือของธนาคารกลางในการกำหนดต้นทุนการกู้ยืมหรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมหรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการทำงานของระบบเศรษฐกิจและราคาสินค้าและบริการอีกทอดหนึ่ง

 

“โดย ธปท. ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน” เว็บไซต์ ธปท. ระบุ

 

เป้ากรอบเงินเฟ้อ ‘ขึ้น’ อาจไม่สามารถบีบ กนง. ให้ ‘ลด’ ดอกเบี้ยได้

 

ตามหลักการแล้ว หากกระทรวงการคลังตกลงกับ ธปท. ปรับขึ้นกรอบเงินเฟ้อ ก็มีความเป็นไปได้ว่าในระยะต่อไป กนง. จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้บรรลุกรอบที่สูงขึ้น

 

กระนั้น การปรับกรอบเงินเฟ้อก็สามารถทำได้หลายแบบ เช่น ปรับขึ้น ปรับลง ปรับให้แคบลง และปรับให้กว้างขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ตามเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2567 ที่เป็นความตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามที่บัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ระบุว่า

 

“หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชน” 

 

สอดคล้องกับ ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตามข้อตกลงแล้ว แม้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แบงก์ชาติอาจไม่ต้องดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายใดๆ ก็ได้ หากสามารถให้คำอธิบายได้ว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมายเป็นไปเพราะเหตุใด หรือเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวหรือไม่

 

“ตามข้อตกลง แบงก์ชาติต้องอธิบายเหตุผล แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติจำเป็นจะต้องจัดการปัญหา (Address) ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย”

 

พร้อมทั้งมองว่า กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันยืดหยุ่นเพียงพอ โดยสำหรับประชาชน ตราบใดที่เงินเฟ้ออยู่ในกรอบนี้ ประชาชนก็จะมีความมั่นใจว่าจะมีเสถียรภาพด้านราคา เงินเฟ้อจะไม่พุ่งขึ้นแบบไม่มีการจัดการ และอัตราเงินเฟ้อจะได้รับการดูแลอยู่

 

การปรับกรอบเงินเฟ้อย่อมมีผลต่อการตีความของตลาด

 

ขณะที่ ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไม่ใช่กลไกแบบเครื่องจับเท็จ แต่เป็นกลไกที่มีความยืดหยุ่น และมีความสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นรุนแรงคล้ายกับเวเนซุเอลาที่เงินเฟ้อปรับขึ้นไปราว 13-14%

 

“ดูที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อย้อนหลังของไทย 10 ปีจะอยู่ประมาณ 1-2% ไม่นับรวมช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนว่า ธปท. พยายามให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบมาตลอด เห็นได้ว่าเมื่อเกิด Oil Shock เงินเฟ้อไทยก็จะหลุดกรอบไปบ้าง ไม่ได้หลุดไปเยอะ ซึ่งหากหลุดไปเยอะสะท้อนว่าเศรษฐกิจพื้นฐานมีปัญหา” ณัฐพรกล่าว

 

พร้อมทั้งกล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. จะต้องหารือกันภายใต้ชุดข้อมูลเดียวกัน เนื่องจากการปรับกรอบเงินเฟ้อย่อมมีผลต่อการตีความของตลาดการเงิน

 

TDRI เชื่อความเห็นแบงก์ชาติ เหตุมีแบบจำลองวิชาการรองรับ

 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า เป้าหมายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อโดยปกติสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นกับความเหมาะสม ส่วนกรณีที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ออกมาแสดงจุดยืนว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยระดับปัจจุบันที่ 1-3% มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน 

 

เนื่องจากในการคำนวณหรือกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตามหลักวิชาการจะต้องสร้างโมเดลแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเศรษฐกิจกับอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในไทยและต่างประเทศ เพื่อคำนวณตัวเลขเงินเฟ้อที่มีความเหมาะสมออกมา ทั้งนี้ แบบจำลองดังกล่าวถือว่ามีความซับซ้อนสูง และปัจจุบันเข้าใจว่าในประเทศไทยมีเพียงหน่วยงานเดียวที่ทำได้คือ ธปท. 

 

ดังนั้น สำหรับกรณีที่ ธปท. และกระทรวงการคลังมีความเห็นไม่ตรงกันต่อการกำหนดกรอบตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุดนั้น ในฝั่งของ ธปท. จะมีเครื่องมือแบบจำลองในการคำนวณกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ในมือ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนจุดยืนของ ธปท. รวมทั้งสามารถนำข้อมูลจากแบบจำลองดังกล่าวออกมาชี้แจงให้เหตุผล เพื่อยืนยันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตามจุดยืนของ ธปท. ได้

 

ดร.สมชัย ยังให้ความเห็นต่อว่า จุดยืนของกระทรวงการคลังที่ออกมาแสดงความเห็นต้องการให้ขยับปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากปัจจุบัน มองว่าเป็นเหตุผลจากความเชื่อทางวิชาการหรือความต้องการทางการเมือง โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังยังไม่ได้มีแบบจำลองทางวิชาการที่พัฒนาขึ้นมาในการคำนวณเพื่อตอบโจทย์ในประเด็นนี้

 

โดยการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกดดันทางอ้อมให้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. นำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ

 

อีกทั้งฝ่ายกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเหตุผลในการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทย เพราะโครงสร้างของศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปโดยปรับลดลงจากเดิม 

 

อย่างไรก็ดี ตนมีความเห็นในประเด็นนี้ว่า หากศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับลดลงเป็นความเชื่อที่กำลังเกิดขึ้นโดยทั่วไปในขณะนี้ ดังนั้นในทางกลับกัน มีความเห็นว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อควรจะปรับลดลงจากเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน เพราะหากศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงก็จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงไปด้วย



“ผมมีแนวโน้มจะเชื่อความเห็นของแบงก์ชาติมากกว่า เพราะมีแบบจำลองในการคำนวณตัวเลขทางวิชาการที่รองรับชัดเจน” ดร.สมชัย กล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising