×

จากเคนตักกีสู่ฮอลลีวูด เส้นทางชีวิตที่มุ่งมั่นของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์

15.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • จุดเปลี่ยนของเจนนิเฟอร์เกิดขึ้นเมื่อมีแมวมองมาเจอเธอตอนไปเที่ยวนิวยอร์กกับครอบครัว และชักจูงให้เธอเข้าวงการตอนอายุ 14 ปี
  • ภาพยนตร์ทั้งหมดของเจนนิเฟอร์ทำเงินไปแล้วมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก และเจนนิเฟอร์เองก็เป็นหนึ่งในนักแสดงฮอลลีวูดที่เรียกค่าตัวได้สูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง
  • อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายแบรนด์ ‘เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์’ คือการที่เธอได้เซ็นสัญญากับแบรนด์ลักซูรีอย่าง Dior
  • อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เจนนิเฟอร์ได้ริเริ่มคือองค์กรการกุศลของตัวเอง ภายใต้ชื่อ Jennifer Lawrence Foundation ในเมืองหลุยส์วิลล์ที่เธอเติบโต

สาวที่เติบโตในฟาร์ม พูดจาห้วนๆ ตรงไปตรงมา มีความเป็นกันเองแบบไร้ฟิลเตอร์ และเปี่ยมไปด้วยความโก๊ะ นี่คืออุปนิสัยที่หากเขียนลงบนกระดาษก็อาจดูไม่ผ่านเกณฑ์นักแสดงนำหญิงของฮอลลีวูดที่บ่อยครั้งดูแตะต้องไม่ได้ แต่สำหรับ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กลับมีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพอผนวกกับรูปร่างหน้าตา ความสำเร็จ และชื่อเสียงของเธอซึ่งทะยานขึ้นสู่ที่หนึ่งของวงการ และกำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เห็นว่าสุภาพสตรีก็สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่พระเอกเพียงอย่างเดียว


THE STANDARD ขอย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้น การเจริญเติบโต และดูว่าทุกวันนี้เธอกำลังเดินไปทิศทางไหนในฐานะอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำหรับหลายๆ คน

 

 

ชีวิต ณ รัฐเคนตักกี

เจนนิเฟอร์ ชเรเดอร์ ลอว์เรนซ์ (Jennifer Shrader Lawrence) เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมปี 1990 ที่เมืองอินเดียนฮิลล์ส รัฐเคนทักกี ที่มีประชากรราว 3,000 คน คุณพ่อแกรี ลอว์เรนซ์ ทำงานรับเหมาก่อสร้าง ส่วนคุณแม่คาเรน ลอว์เรนซ์ ประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการซัมเมอร์แคมป์ ซึ่งตั้งอยู่บนฟาร์มของครอบครัวที่เจนนิเฟอร์เติบโตมากับการขี่ม้าเป็นประจำกับพี่ชายสองคน เบน ลอว์เรนซ์ และเบลน ลอว์เรนซ์ ชีวิตวัยเรียนประถมและมัธยมที่ Kammerer Middle School ในเมืองหลุยส์วิลล์ ถือได้ว่าแปรปรวน เพราะเธอมีความไฮเปอร์ผสมกับความวิตกกังวลที่ทำให้เข้ากับเด็กคนอื่นไม่ค่อยได้


“ฉันไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งหรือโดนคนอื่นล้อ และฉันก็ไม่ได้ฉลาดไปกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ทำให้เข้ากับพวกเขาไม่ได้ ฉันแค่มีความกังวลตลอดเวลาที่แปลกไปกว่าคนอื่น ฉันเกลียดเวลาพักเบรก ฉันเกลียดการไปทัศนศึกษา งานปาร์ตี้ทำให้ฉันเครียด และอารมณ์ขันของฉันก็มักแปลกกว่าคนอื่น” เจนนิเฟอร์เคยกล่าว


กิจกรรมที่ทำให้เจนนิเฟอร์ผ่อนคลายและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดก็หนีไม่พ้นการแสดง ซึ่งบทบาทแรกในชีวิตของเธอคือการเล่นเป็นผู้หญิงขายบริการในละครเวทีที่โบสถ์ตอนอายุ 9 ขวบ โดยจุดเปลี่ยนของเจนนิเฟอร์เกิดขึ้นเมื่อมีแมวมองมาเห็นเธอที่ย่านยูเนียนสแควร์ในนิวยอร์กตอนที่ไปเที่ยวกับครอบครัว และชักจูงให้เธอเข้าวงการตอนอายุ 14 ปี ซึ่งปีต่อมาเจนนิเฟอร์ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ลอสแอนเจลิสกับคุณแม่ด้วยวัยเพียง 15 และต้องเรียนโฮมสคูลแบบ fast track ให้จบระดับมัธยมภายใน 2 ปี เพื่อจะได้โฟกัสการแสดงอย่างเต็มที่

 

เจนนิเฟอร์ กับแดเนียล เดย์ เลวิส ที่งานออสการ์ ปี 2013

 

จากโฆษณา Burger King สู่รางวัสออสการ์

ผลงานแรกๆ ของเจนนิเฟอร์คือการถ่ายแบบและถ่ายโฆษณา เช่น การเป็นนางแบบแคมเปญของแบรนด์ Abercrombie & Fitch (ที่ไม่เคยถูกใช้) และโฆษณา Burger King ต่อมาเธอได้ออดิชันงานแสดงแรกก็คือ การเล่นเป็นสัตวแพทย์ในวิดีโอสังคมศาสตร์ที่เธอก็ไม่ได้งาน แต่ก็ได้ไปแสดงในวิดีโอโปรโมตรายการ My Super Sweet 16 ของช่อง MTV ที่ทำให้เธอได้บัตรสมาชิก SAG Card เพื่อเป็นนักแสดงอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา

 

 

ต่อมาเจนนิเฟอร์เริ่มเล่นบทตัวประกอบในซีรีส์ Monk, Cold Case และ Medium ส่วนผลงานสร้างชื่อของเธอก็คือภาพยนตร์เรื่อง Winter’s Bone ในปี 2010 ที่เจนนิเฟอร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่งานประกาศรางวัลออสการ์ด้วยวัยเพียง 20 ปี และต่อมาในปี 2011 เธอก็ได้ก้าวสู่หมวดหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง X-Men: The First Class ในบทบาท มิสทีก ในปี 2012 กับหนังแฟรนไชส์เรื่อง The Hunger Games ในบทนำ แคตนิสส์ เอเวอร์ดีน ซึ่งตอนแรกเธอลังเลที่จะรับบทนี้และใช้เวลาตัดสินใจถึง 3 วัน เพราะกลัวคนจะไม่เชื่อถือเมื่อนักแสดงมาเล่นหนังแฟรนไชส์ แต่ผลลัพธ์ของหนังเรื่องนี้กลับผลักดันให้เจนนิเฟอร์ก้าวสู่สมรภูมิอันสูงสุดของวงการฮอลลีวูด ซึ่งเธอก็ยังเลือกรับเล่นบทหนังฟอร์มเล็กที่เป็นขวัญใจของนักวิจารณ์และผู้ชมอยู่เป็นประจำ เห็นได้จากการที่เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อีก 3 ครั้ง และชนะในปี 2012 จากบทนำในหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ที่เธอเล่นเป็นแม่ม่ายผู้ประสบปัญหาโรคซึมเศร้า


โปรแกรมหนังเรื่องต่อไปของเจนนิเฟอร์คือหนังสะเทือนขวัญ
Mother! ของผู้กำกับ ดาร์เรน อโรนอฟสกี จากเรื่อง Black Swan ที่เธอกำลังคบหาในชีวิตจริง ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังเป็นที่จับตามองคือหนังชีวประวัติช่างภาพสงครามสาว ลินซีย์ แอดดาริโอ ชื่อ It’s What I Do ซึ่งได้ สตีเวน สปีลเบิร์ก มากำกับให้ แถมเจนนิเฟอร์กำลังเขียนบทประพันธ์คู่กับ เอมี ชูเมอร์ สำหรับภาพยนตร์คอเมดีที่ทั้งคู่จะแสดงร่วมกันอีกด้วย

 

 

กลยุทธ์การเงินของเจนนิเฟอร์

ถ้ามองในเชิงธุรกิจ การลงทุนในตัวเจนนิเฟอร์ถือได้ว่าคุ้มค่า เพราะเธอคือหนึ่งในนักแสดงไม่กี่คนที่ได้การยอมรับทั้งในหมวดหนังอินดี้ที่การันตีด้วยรางวัล และหนังใหญ่บล็อกบัสเตอร์ฮอลลีวูดที่มาพร้อมเงินจากบ็อกซ์ออฟฟิศ ซึ่งหนังทั้งหมดของเจนนิเฟอร์ทำเงินไปแล้วมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก และเจนนิเฟอร์เองก็เป็นหนึ่งในนักแสดงฮอลลีวูดไม่กี่คนที่สามารถเรียกค่าตัวได้สูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง เทียบเท่ากับแอนเจลีนา โจลี และซานดรา บุลล็อก แถมในโลกโซเชียล ถึงแม้เธอจะไม่ได้เล่นอินสตาแกรม แต่เฟซบุ๊กเพจของเธอก็มีคนไลก์มากกว่า 16 ล้านคน

 

 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายแบรนด์ ‘เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์’ คือการที่เธอได้เซ็นสัญญากับแบรนด์ลักซูรีอย่าง Dior ช่วงกลางปี 2012 เพื่อเป็นพรีเซนเตอร์ไลน์กระเป๋ารุ่น Miss Dior และต่อมาในปี 2015 เธอก็ได้เซ็นสัญญาต่ออีก 3 ปี พร้อมค่าตัว 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับไลน์ลิปสติก Dior Addict อีกด้วย นี่เป็นการสะท้อนความนิยมและผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการว่าจ้างเธอเป็นพรีเซนเตอร์

 

 

สิทธิสตรีและการเป็นผู้ให้

การจะมีความสามารถและรูปร่างหน้าตาที่เพอร์เฟกต์ ไม่ได้การันตีว่าคุณจะเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมเสมอไป โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ทุกกระเบียดนิ้วของดาราถูกจับตามอง


สำหรับเจนนิเฟอร์ สิ่งที่ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจมหาชนคือการวางตัวที่เข้าถึงง่าย และสนุกกับชีวิตผู้หญิงวัย 27 ปีแบบโก๊ะๆ อย่างการที่เธอเป็นแฟนคลับตัวยงของตระกูลคาร์ดาเชียน แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ยังมีจุดยืนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เพศพ่อมักคุมเกมอยู่ตลอดเวลา


ประเด็นนี้เราเห็นจากการที่เธอออกมาเผยความรู้สึกผ่านเว็บไซต์
Lenny Letter หลังข้อมูลของค่ายโซนี่ได้ถูกแฮ็กและเปิดโปงว่า เธอและนักแสดง เอมี อดัมส์ ได้ค่าตัวน้อยกว่านักแสดงชายคนอื่นๆ ในหนังเรื่อง American Hustle (2013) ซึ่งเจนนิเฟอร์บอกว่าเธอไม่ได้โกรธหรือเกลียดค่ายโซนี่ แต่โกรธที่ยอมให้ตัวเองโดนเอาเปรียบและไม่กล้าที่จะต่อรองราคา เพราะกลัวคนอื่นในวงการจะมองว่าเธอเป็นผู้หญิงเรื่องมาก โดยหลังจากเหตุการณ์นี้เราก็ได้เห็นค่าตัวเธอสูงขึ้น เช่น จากหนังเรื่อง Passengers (2016) ที่เธอได้ค่าตัวสูงกว่าพระเอก คริส แพรตต์

 


อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เจนนิเฟอร์ได้ริเริ่มคือองค์กรการกุศลของตัวเอง ภายใต้ชื่อ Jennifer Lawrence Foundation ในเมืองหลุยส์วิลล์ที่เธอเติบโต ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและระดมทุนหาเงินให้องค์กรอื่นๆ ที่ดูแลปัญหาของเด็กและเยาวชน เช่นองค์กร Fund for the Arts, Down Syndrome of Louisville และ Kids Cancer Alliance เป็นต้น โดยในปี 2016 เธอได้บริจาคเงิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐให้โรงพยาบาล Kosair Children’s เพื่อสร้างหน่วยงานรักษาผู้ป่วยเด็กด้านโรคหัวใจอีกด้วย

 

เราได้อะไรจากเจนนิเฟอร์

บทพิสูจน์ต่อไปของเจนนิเฟอร์คือ เธอยังจะประคองชื่อเสียงและฝีไม้ลายมือได้อีกกี่ปีในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงทุก 3 วินาที โดยบทบาทที่เธอเลือกควรสร้างมิติใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้เห็นเสมอและไม่จำเจจนเดาได้ เหมือนกับที่นักแสดง จูเลีย โรเบิร์ตส์, เมอรีล สตรีป หรือเพื่อนสนิทของเจนนิเฟอร์เองอย่าง เอมม่า สโตน ได้สร้างไว้กับเส้นทางอาชีพการเป็นนักแสดง


ถ้าวันหนึ่งเราต้องบรรยายคุณค่าของนักแสดงที่ชื่อ ‘เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์’ ให้คนรุ่นต่อไปได้ฟัง เราคงไม่ได้บอกเพียงว่าเธอคือผู้หญิงบนหน้าปกนิตยสาร
Vogue เล่มล่าสุดที่ผู้หญิงอยากสวยตาม หรือต้องรีบไปซื้อลิปสติก Dior ที่เธอเป็นพรีเซนเตอร์มาใช้ หรือเป็นนักแสดงที่ผู้ชายหลายคนเคยวาดฝันว่าอยากไปออกเดตด้วย แต่เรากลับจะบอกว่าเธอคือตัวอย่างของนักแสดงที่เมื่อขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของวงการ เธอไม่ได้หลงระเริงไปกับชื่อเสียง เจนนิเฟอร์ยังคงจำรากฐานของตัวเอง พยายามพัฒนาฝีมืออยู่เรื่อยๆ และเธอก็เป็นมนุษย์เหมือนเรานี่แหละ ที่หากเราเอาทัศนคติและตัวตนของเธอไปปรับใช้ เราก็อาจก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้นในชีวิต ไม่ว่าอาชีพของเราจะเป็นอะไร และทำได้ด้วยการเป็นตัวของตัวเองมากกว่าเวอร์ชันที่ปรุงแต่งไปหมด


“การประสบความสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าคนเราต้องทำงานน้อยลง และดูถูกคนอื่นเหมือนพวกเขาไม่มีค่า” – เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์

 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising