×

หั่นเงินนำส่ง FIDF มาลดภาระชำระหนี้-พักดอกเบี้ยลูกหนี้ NPL แบงก์ 3 ปี ใครได้-ใครเสียผลประโยชน์?

12.11.2024
  • LOADING...
หั่นเงินนำส่ง FIDF มาลดภาระชำระหนี้-พักดอกเบี้ยลูกหนี้

จับตา ‘สมาคมธนาคารไทย-คลัง-ธปท.’ เตรียมออกมาตรการ ‘พักหนี้-ลดภาระหนี้’ ลูกหนี้รายย่อยที่มีปัญหาชำระหนี้ (NPL) เป็นเวลา 3 ปี โดยใช้เงินทุนจาก 2 ส่วนคือ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ลงครึ่งหนึ่ง และเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร ด้านผู้เชี่ยวชาญประเมินมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระลูกหนี้ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย และช่วยบรรเทาปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ อย่างไรก็ตาม การลดเงินนำส่ง FIDF ลงเหลือ 0.23% จะทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5 พันล้านบาทต่อปี

 

ปูพื้นทำความเข้าใจมาตรการ ก่อนสมาคมฯ ประกาศรายละเอียดฉบับเต็ม

 

ตามแถลงการณ์ของสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ระบุว่า สมาคมธนาคารไทยร่วมมือกับภาครัฐเตรียมออก ‘มาตรการลดภาระชำระหนี้ ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก’

 

โดยรูปแบบของมาตรการดังกล่าวจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่องวดอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่เข้าร่วมมาตรการ โดยให้ผู้เข้าร่วมผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และพักชำระดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

 

โดยก่อนหน้านี้ ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต ในฐานะกรรมการ สมาคมธนาคารไทย ที่ก่อนหน้านี้เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) เฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และสินเชื่อ SME รายเล็ก โดยต้องเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

 

ปิติกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่เข้าร่วมมาตรการ ธนาคารจะนำเงินที่ลูกหนี้ชำระมาตัดเงินต้นก่อน ส่วนดอกเบี้ยจะพักไว้ 3 ปี และหากลูกหนี้สามารถดำเนินการได้ครบตามเงื่อนไขตลอดทั้งมาตรการจะยกดอกเบี้ยให้ อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่เข้าร่วมจะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

 

สอดคล้องกับแถลงการณ์ของสมาคมธนาคารไทย ที่ระบุว่า “หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับยกเว้นสำหรับดอกเบี้ยที่พักแขวนไว้ ซึ่งจะเป็นการช่วยอย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม

 

โดยจะมีแรงจูงใจให้ลูกหนี้รักษาวินัยในการผ่อนชำระ ทั้งในช่วงเข้าร่วมมาตรการและหลังจบมาตรการ โดยระหว่างเข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้จะไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ช่วงเวลาหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดภาระหนี้ให้ได้อย่างแท้จริง และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์จงใจผิดนัดชำระหนี้เพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้”

 

ใครมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบ้าง? จากข้อมูลปัจจุบัน

 

  • ลูกหนี้รายย่อย ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก (ไม่รวมบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และอื่นๆ)
  • ลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อขนาดเล็กที่เป็นไปตามเกณฑ์สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์สินเชื่อ
  • เป็นสัญญาเงินกู้ที่ทำก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
  • เป็นสัญญาที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ของมาตรการ สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการดำเนินการจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป

 

เชื่อมาตรการนี้ช่วยลดภาระลูกหนี้-กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

 

ธนเดช รังษีธนานนท์ Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย คาดว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหาและเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์จากมาตรการที่จะออกมานี้ เหตุลูกหนี้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่างวดลดลง

 

“เราต้องเท้าความปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก่อนนั่นคือ สินเชื่อไม่โต เพราะว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำ และลูกหนี้มีกำลังซื้อน้อยลงและอยู่ในภาวะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามหาทางแก้ให้เศรษฐกิจโตดีขึ้นและลดภาระของลูกหนี้ปัจจุบัน โดยมาตรการต่างๆ ที่เป็นข่าวมา จึงจะทำให้ลูกหนี้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่างวดลดลง ลูกหนี้ได้ประโยชน์แน่นอน และเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น” ธนเดชกล่าว

 

คาดช่วยบรรเทาปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

 

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงโควิดได้

 

กาญจนาอธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดการระบาดของโควิด คุณภาพของสินเชื่อก็ด้อยลง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกมาตรการต่างๆ ขึ้นมาในตอนนั้น เพื่อช่วยลูกหนี้และป้องกันไม่ให้เกิดการไหลไป NPL อย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงที่มาตรการต่างๆ ทยอยหมดอายุลง ประกอบกับเมื่อรายได้ของลูกหนี้ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพจึงยังคงลากยาวมาถึงตอนนี้

 

ดังนั้นกาญจนาจึงมองว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความจำเป็นและประสบปัญหา ‘เพิ่มเติม’ จากมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของ ธปท. ซึ่งมีเกณฑ์ที่กำหนดให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนที่ลูกหนี้ก่อนจะเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง และหลังเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง

 

ประเมินผลดี-ต่อแบงก์พาณิชย์

 

ธนเดชระบุว่า ตามหลักการทางบัญชี ธนาคารพาณิชย์อาจเสียประโยชน์จากรายได้ดอกเบี้ยรับที่จะถูกพักไป แต่ในอีกแง่หนึ่งสถาบันการเงินก็อาจจะได้ลดภาระสำรองหนี้เสีย (NPL) ลงได้

 

กระนั้น การลดลงของสัดส่วน NPL เท่าไรยังไม่สามารถประเมินตอนนี้ได้ เนื่องจากต้องรอดูจำนวนลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการก่อน

 

เงินทุนทำมาตรการนี้มาจากไหน?

 

ในแถลงการณ์ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ระบุว่า แหล่งเงินทุนในมาตรการจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ทั้งระบบเหลือ 0.23% และเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งค่าธรรมเนียมคิดเป็น 0.47% ของฐานเงินที่รับจากประชาชนไปให้กับ ธปท. โดยค่าธรรมเนียม 0.47% จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกหรือ 0.01% ต่อปีของฐานเงินฝาก จะส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ขณะที่ 0.46% ของยอดเงินจะนำไปใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของ FIDF

 

หนี้ FIDF ลดช้า ภาระดอกเบี้ย ‘งอก’ 5 พันล้านบาทต่อปี

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธปท. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้ราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท

 

โดยจำนวนนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้ FIDF ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินต้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นผู้จัดการ ซึ่งปกติจะจ่ายเงินต้นที่มีดอกสูงก่อน

 

ดังนั้น หากลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงเหลือ 0.23% จะทำให้เรียกเก็บเงินต่อปีได้ลดลง 3.5 หมื่นล้านบาท และทำให้เกิดต้นทุนต่อเนื่องอีก 2 ส่วน ได้แก่ ทำให้เงินต้นลดช้าลง และทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5 พันล้านบาทต่อปี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X