ฟีบ้า หรือสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ พยายามรีแบรนด์รายการบาสชิงแชมป์โลกอย่างสุดฤทธิ์ ทั้งเปลี่ยนการเรียกชื่อใหม่ให้เป็น FIBA Basketball World Cup และต้องการเลี่ยงไม่ให้ชนกับรายการฟุตบอลโลกหรือ FIFA World Cup ซึ่งจัดแข่งปีเลขคู่
จะเลี่ยงให้แข่งห่างกัน 2 ปีก็ไม่ได้อีกเพราะจะชนกับโอลิมปิก
ดังนั้นพวกเขาจึงขยับมาเป็นเลขคี่แทน เริ่มจากปี 2019 ที่ประเทศจีน
ยุคนั้นถือเป็นความสำเร็จให้ฟีบ้าตีปีกทีเดียว เพราะมียอดคนดูทางทีวีถล่มทลาย 3 พันล้านคน และยอดเข้าถึงทางโซเชียลมีเดียอีกเป็นพันล้าน
คนดูเข้าสนามก็ทะลุหลัก 8 แสนราย
อย่าลืมว่าจีนคือชาติที่คลั่งบาสเกตบอลที่สุดของโลก ไม่ต้องอื่นไกล คนดูรอบชิงชนะเลิศ NBA ยังมากกว่าคนในสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ
พ้นจากนั้นโลกก็เจอวิกฤตโควิด ซึ่งฟีบ้าคิดว่าตัวเองดวงเฮง เพราะช่องว่างรายการ 4 ปี ไวรัสหายนะตัวนี้มันก็จบลงไปแล้ว
ทุกอย่างเป็นไปตามแผนเดิม ฟิลิปปินส์ โอกินาวา (ญี่ปุ่น) และอินโดนีเซีย จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 10 กันยายน
ปัญหาคือปีที่เลื่อนมาจะเป็นซัมเมอร์ติดกับโอลิมปิก
มันทำให้ผู้เล่นระดับห้าดาวของสหรัฐฯ ต่างมองข้ามรายการเวิลด์คัพกันทั้งนั้น ต่อให้แข่ง 4 ปีหน หรือครั้งก่อนเว้นวรรคมานาน 5 ปีก็ยังส่งเกรดบีมาแข่ง
เจย์สั้น เททั่ม, เจย์เลน บราวน์, โดโนแวน มิตเชลล์ อาจดังในปัจจุบัน แต่ปี 2019 ยังไม่ใช่
ตัดภาพมาตอนนี้ ทั้ง 3 คนยกระดับฝีมือและความเก่งขึ้นชัดเจน ต่างมองข้ามฟีบ้าเวิลด์คัพ ไม่คิดจะล้างอายผลงานย่ำแย่ครั้งดังกล่าว
พวกเขาออกตัวดี ชนะ 5 เกมรวด แต่พอถึงรอบน็อกเอาต์ 8 ทีมสุดท้าย โดนฝรั่งเศสสอย 89-79
ชิงอันดับ 5 ก็ดันแพ้เซอร์เบียอีก 89-94
ลงเอยแค่อันดับ 7 ชนะโปแลนด์เพียง 87-74
โค้ช เกร็กก์ โพโพวิช พลอยเสียรังวัดโค้ชระดับตำนานไปด้วย ยังดีที่แก้มือรอบชิงฯ โอลิมปิกด้วยการโค่นฝรั่งเศสสำเร็จ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างไรทีมชาติสหรัฐฯ คือทีมแม่เหล็กและเป็นเต็งแชมป์ทุกครั้ง ต่อให้ส่งชุดเกรดบีก็ตาม เพียงแต่แง่การตลาดมันส่งผลกับภาพลักษณ์รายการอย่างไม่ต้องสงสัย
แกรนท์ ฮิลล์ อดีตนักบาสดัง ซึ่งผันตัวมาเป็นผู้บริหารสมาคมบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐฯ ปวดหัวทีเดียว เพราะกวาดตาจากรายชื่อคนที่อาสาแข่งเวิลด์คัพคราวนี้ต้องเอาแม้แต่ตัวสำรอง NBA มาติดทีม ซึ่งก็คือ จอช ฮาร์ท จากนิว ยอร์ค นิกส์
ผมจำไม่ได้แล้วว่าหนสุดท้ายที่ตัวสำรองได้ติดทีมชาติสหรัฐฯ คือใคร?
คาดว่าฮาร์ทอาจยอมมาเพราะคำชวนของ เจเลน บรันสัน การ์ดรุ่นน้อง ซึ่งสนิทกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา และปัจจุบันก็เล่นให้นิกส์ทั้งคู่ โดยบรันสันเป็นหนึ่งในผู้เล่นอาสาติดทีมล็อตแรกๆ
ออสติน รีฟส์ วัย 25 ปี ก็เคยมีสถานะสำรองที่โนเนมด้วยซ้ำ กระทั่งแจ้งเกิดกับเลเกอร์สปีนี้ สกอร์เฉลี่ย 13.0 ทีเด็ดระยะสามเหมือนช่วงเพลย์ออฟลง 44% ที่จริงเขาแข่งให้เยอรมนีก็ได้ เพราะต้นตระกูลทางแม่มาจากสายนั้น
ทำความรู้จักทีมบาสมะกันชุดล่าสุดกันเล็กน้อยครับ อย่างน้อยก็ยังมีอดีตดราฟต์คนแรกอยู่สองคน นั่นคือ แอนโธนี่ เอ็ดเวิร์ดส จากทิมเบอร์วูล์ฟส และ เพาโล แบนเคโร่ จากออร์แลนโด้ แมจิก ซึ่งยังได้ตำแหน่งรุกกี้แห่งปี
รายของแบนเคโร่ถือว่ามีดราม่าหักหน้า
สมาคมบาสเกตบอลอิตาลีอุตส่าห์มองการณ์ไกล ล็อบบี้แบนเคโร่ตั้งแต่เขาเพิ่งอายุ 16 ปี และช่วยให้ได้พาสปอร์ตปี 2020 เพื่อกรุยทางเล่นทีมชาติ
พ่อของแบนเคโร่มีเชื้อสายอิตาเลียน ดังนั้นพอสมาคมบาสสหรัฐฯ ไม่ค่อยให้โอกาสติดทีมสมัยยังเด็ก แบนเคโร่ก็น้อยใจ บอกจะไปแข่งให้ทีมชาติอิตาลีในโตเกียวโอลิมปิกปี 2020 ทว่าพอเกิดโควิด รายการต้องเลื่อนออกไป
หลายอย่างก็ผิดไปจากแผนที่วางไว้ เขาต้องมีสมาธิกับบาสคอลเลจ ซึ่งได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยดุก
เขายกระดับฝีมือทะลุพรวด ได้ดราฟต์อันดับหนึ่งไม่พอ ยังเก่งกาจต่อเนื่อง
ทั้ง ฮิลล์, สตีฟ เคอร์ โค้ชคนปัจจุบันของสหรัฐฯ และ ฌอน ฟอร์ด ผู้จัดการทีม กล่อมแบนเคโร่วัย 20 ปีมานับเดือน จนเป็นผลปิดดีลได้ ทิ้งอิตาลีเอาไว้กลางทาง
ว่ากันว่าทางฝั่งแม่ของแบนเคโร่ก็คือ รอนด้า สมิธ เคยเป็นนักบาสดังของมหาวิทยาลัยวอชิงตันและติดทีมชาติ มีส่วนทำให้ลูกชายเปลี่ยนใจ
ตามกฎของฟีบ้า เมื่อผู้เล่นคนไหนเลือกแข่งให้ทีมชาติชุดใหญ่แล้วจะเปลี่ยนอีกไม่ได้ จึงถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญทีเดียว
แบนเคโร่สูง 6 ฟุต 10 แต่มีทักษะของพอยต์การ์ด เหมาะกับสไตล์ทีมชาติมาก ใช้ประโยชน์จากรูปร่างเต็มที่
- วงในจะประกอบด้วย
เจเรน แจ็คสัน ดีกรีป้องกันยอดเยี่ยมแห่งปีจากกริซซลี่ส์ เพิ่งอายุ 23 ปี บล็อกเฉลี่ยมากสุดลีก 3.0 ครั้ง, วอล์คเกอร์ เคสสเลอร์ รุกกี้วัย 21 ปีของแจซ บล็อกเก่งกาจ และ บ็อบบี้ พอร์ทิส ประสบการณ์พอตัว แม้อายุแค่ 28 ปี
พอร์ทิสป้องกันเหนียวตอนอยู่กับบัคส์ เฉลี่ย 14.1 แต้ม 9.6 รีบาวด์ สถานะของเขาก็คล้ายสำรอง เพราะลงแข่งซีซันล่าสุด 70 เกม เป็นสำรอง 48 หน
- ฟอร์เวิร์ดมี 3 ได้แก่
แบรนด้อน อินแกรม, มิคาล บริดเจส กับ แคม จอห์นสัน
ฝ่ายบริหารทีมเพลิแกนส์คงไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไร เพราะซีซันที่ผ่านมา อินแกรมบาดเจ็บนิ้วเท้าจนได้แข่งแค่ 45 เกม แต่ดันจะเสี่ยงเล่นทีมชาติต่อ
เวลาลงแข่งได้ ฟอร์มอินแกรมน่าเกรงขาม 24.7 คะแนน 5.8 แอสซิสต์ 5.5 รีบาวด์ รวมทั้งระยะสามลง 39%
บริดเจส อายุ 26 ปี โดนฟีนิกซ์เทรดมาโชว์ฟอร์มเต็มๆ ที่บรู้กลิน 27 เกม เฉลี่ย 26.1 คะแนน
- การ์ดอีก 6 คน เอ็ดเวิร์ดส, แบนเคโร่, ทายหรีส ฮาลิเบิร์ต, บรันสัน, ฮาร์ท กับ รีฟส์
นอกจากแบนเคโร่โดดเด่นแล้วก็ยังมีเอ็ดเวิร์ดส ซึ่งจะอายุครบ 22 ปี เมื่อเข้าแคมป์เดือนสิงหาคม มีผลงานซีซันที่ผ่านมากับทิมเบอร์วูล์ฟสน่าประทับใจ เฉลี่ย 24.6 แต้ม 5.8 รีบาวด์ 4.4 แอสซิสต์ จนติดออลสตาร์ครั้งแรก
ฮาลิเบิร์ต อายุ 23 ปี ติดออลสตาร์เช่นกัน เล่นพอยต์การ์ดให้เพเซอร์ส เฉลี่ย 20.7 คะแนน 10.4 แอสซิสต์ 3.6 รีบาวด์ และ 1.6 สตีล
บรันสัน วัย 26 ปี ก้าวขึ้นเป็นผู้นำนิกส์ เฉลี่ย 24.0 คะแนน 6.2 แอสซิสต์ 3.5 รีบาวด์ แม้จะเล็กสุดของทีมเพราะสูงแค่ 6 ฟุต 2 แต่ทรงเกมของเขาเหนียวแน่น และมีประสบการณ์บาสฟีบ้าจากสมัยเป็น MVP ชุดแชมป์โลก U-19 เมื่อปี 2015
จาก 12 คนนี้ มี 6 ราย สกอร์อย่างน้อย 20 จาก NBA ซีซันล่าสุด อินแกรม (24.7), เอ็ดเวิร์ดส (24.6), บรันสัน (24.0), ฮาลิเบิร์ต (20.7), บริดเจส (20.1) และ แบนเคโร่ (20.0)
พวกเขาจะอุ่นเครื่องรวม 5 นัด
เริ่มจากวันที่ 7 สิงหาคม เจอเปอร์โตริโกในลาสเวกัส, 12 สิงหาคม บินไปเจอสเปน และปิดท้ายไปไกลถึงอาบูดาบีเจอกับกรีซวันที่ 18 สิงหาคม กับเยอรมนี 20 สิงหาคม
จากนั้นก็ไปปักหลักที่มะนิลาตลอดทัวร์นาเมนต์เพื่อไม่ต้องเดินทาง
รอบแรกเจอแต่งานง่าย เจอนิวซีแลนด์ วันที่ 27 สิงหาคม รุ่งขึ้นเจอกรีซ และ 30 สิงหาคม เจอจอร์แดน
เห็นชื่อทีมกรีซแล้ว นี่คืออีกเหตุผลที่บอกว่าฟีบ้าเวิลด์คัพหนนี้จะหมดสิ้นมนตร์ขลัง
เพราะ ยานนิส อันเดโทคุนโบ ดาวดังระดับ MVP ของมิลวอคกี้ บัคส์ ทำท่าจะถอนตัว เมื่อปล่อยข่าวว่าเพิ่งผ่าตัดเข่าในนิวยอร์ก แม้อาการไม่รุนแรง
คอสทาส อันเดโทคุนโบ น้องชายของเขา ก็เพิ่งผ่าตัดหมองรองกระดูกเข่าปลายเดือนที่แล้ว
ขณะที่ ธานาซิส พี่คนโต ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ยอมให้คำตอบชัดเจนว่าจะเล่นให้ทีมชาติกรีซหรือไม่?
วิกเตอร์ เวมบันยาม่า เด็กทองคำคนใหม่ของ NBA ชัดเจนกว่าเยอะ ประกาศถอนตัวไม่แข่งให้ฝรั่งเศส อ้างว่าเพื่อเซฟร่างกาย ขอเอาเวลาและสมาธิเตรียมพร้อมกับซีซันรุกกี้ให้ซาน แอนโตนิโอ สเปอร์ส ทีมใหม่ดีกว่า
สำหรับคนนี้ รุย ฮาชิมูระ ฟอร์เวิร์ดแอลเอ เลเกอร์ส ขอถอนตัวจากการแข่งชิงแชมป์โลกให้ญี่ปุ่น ถือว่างง เพราะชาติบ้านเกิดเป็นเจ้าบ้านแท้ๆ
ส่วนหนึ่งคงเพราะฮาชิมูระหมดสัญญาตอนที่ประกาศพอดี จากนั้นเลเกอร์สจึงค่อยต่อด้วย (จะว่าไป รีฟส์ เพื่อนร่วมทีมเลเกอร์ส ก็สถานะเดียวกัน แต่อาสาเล่นทีมชาติแต่แรก)
ญี่ปุ่นคงตกรอบแน่แม้จะเป็นเจ้าบ้าน พวกเขาอยู่ในกลุ่มอี เจอทั้งเยอรมนี ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย
ปิดท้ายคือ นิโกล่า โยคิช MVP รอบชิงเดนเวอร์ นักเก็ตส์ แว่วๆ ว่าอาจถอนตัวไม่แข่งให้เซอร์เบีย เพราะมีภารกิจต้องทำกับครอบครัว เพียงแต่ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ
ฟีบ้าได้แต่ตะโกนเดอะโชว์มัสโกออนครับ! ต่อให้สหรัฐฯ ส่งทีมเกรดบี หรือซูเปอร์สตาร์อีกหลายชาติถอนตัว แต่ถ้าถึงเวลาแล้วผลแข่งขันออกมาสูสี ก็คงจะพอเรียกความสนใจจากแฟนบาสได้พอสมควร
ทิ้งท้ายเกร็ดน่าสนใจเล็กน้อย
- ทีมบาสมะกันเป็นแชมป์โลกมากสุดตลอดกาล 5 สมัย รวมทั้งล่าสุดปี 2014 (ยูโกสลาเวียก็เคยได้ 5 สมัย แต่ประเทศแตกสลายไปหมดแล้ว) กับอีก 3 เหรียญทอง 4 ทองแดง
- สมัยแข่งบาสฟีบ้าเวิลด์คัพหนแรกปี 1950 ที่บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา มีแค่ 10 ชาติลงแข่ง โดยสหรัฐฯ แทบไม่แยแส ส่งทีมพนักงานโรงงานเชฟโรเลตเป็นตัวแทน แล้วตั้งชื่ออย่างเท่ เอเอยู เดนเวอร์ เชฟโรเลตส์
ทีมโรงงานดังกล่าวกลับสร้างผลงานไม่ธรรมดา ทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะพ่ายอาร์เจนตินาเจ้าภาพ 50-64