ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเป็นขาลง ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวในช่วง 1,590-1,641 จุด แม้ว่าสัปดาห์แรกจะอยู่จุดสูงสุดที่ 1,641 จุด แต่ทั้งเดือนทยอยปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ช่วง 1,590-1,600 จุด
ทั้งนี้ ระยะสั้นมองว่าตลาดหุ้นไทยยังคงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกไปยังตลาดอื่นๆ ทำให้ในระยะสั้นดัชนีหุ้นไทยยังมีความผันผวนสูง แต่ในมุมการลงทุนระยะยาวมองว่า ตลาดหุ้นไทยยังสามารถให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง ดังนั้น อยากให้รัฐบาลแยกวงเงินลดหย่อนภาษีของกองทุนใหม่ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่วางแผนในระยะยาว
“ช่วงหลังเห็นว่าตลาดหุ้นไทยต่างจากตลาดหุ้นโลก โดยของไทยปรับลดลงอย่างเดียว ขณะที่ตลาดโลกมีการปรับขึ้นบางช่วง เช่น ตลาดสหรัฐฯ ฯลฯ ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาโครงสร้างของไทยที่เป็นการลงทุนระยะสั้น โดยมีกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ยังเป็นการลงทุนแบบ Passive หรือเล่นหุ้นตามดัชนี ทำให้ Sentiment ตลาดในระยะสั้นมีความผันผวน และทำให้ทั้งปีนี้การคาดการณ์ต่างๆ ยากยิ่งขึ้น”
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และอาจนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยต้องจับตามองบรรยากาศการค้าโลก หากปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยควรกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐมีความพยายามออกมาตรการอยู่ หากไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด อาจไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดฯ ได้
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา ในขณะที่กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว
ขณะเดียวกันปัจจัยหนุนที่นักลงทุนจับตามองการเจรจาข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ- จีน (ทั้งขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในปี 2563 ส่วนในประเทศจับตาการเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
นอกจากนี้ จากการสำรวจในนักลงทุนแต่ละกลุ่ม มีหมวดธุรกิจที่น่าสนใจ 3 อันดับ ได้แก่
- รายบุคคล
อันดับ 1 พลังงานและสาธารณูปโภค
อันดับ 2 หมวดท่องเที่ยว
อันดับ 3 อาหาร
- กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์
อันดับ 1 หมวด ICT
อันดับ 2 พลังงานและสาธารณูปโภค
อันดับ 3 หมวดพาณิชย์
- กลุ่มสถาบันในประเทศ
อันดับ 1 ธนาคาร
อันดับ 2 พลังงานและสาธารณูปโภค
อันดับ 3 หมวดพาณิชย์
- ต่างชาติ
อันดับ 1 หมวดท่องเที่ยว
อันดับ 2 หมวดพาณิชย์
อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจในแต่ละกลุ่มนักลงทุน ได้แก่
- รายบุคคล
อันดับ 1 หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
อันดับ 2 หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์
อันดับ 3 หมวดเหล็ก
- กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์
อันดับ 1 หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
อันดับ 2 หมวดธุรกิจธนาคาร
อันดับ 3 หมวดปิโตรเคมี
- กลุ่มสถาบันในประเทศ
อันดับ 1 หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
อันดับ 2 หมวดเหมืองแร่ - ต่างชาติ
อันดับ 1 หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดธนาคาร และหมวดปิโตรเคมีภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม มองว่าในระยะสั้นนี้ (6 เดือน และ 1 ปี) ยังไม่เห็นสัญญาณการเกิดวิกฤตเหมือนในปี 1998 และ 2008
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์