×

เฟนเวย์โมเดลกับการบริหารงานของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่พาลิเวอร์พูลสู่ความสำเร็จบนเวทียุโรปอีกครั้ง

09.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป คือบริษัทบริหารกิจการด้านกีฬาจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรลิเวอร์พูลตั้งแต่ปี 2010
  • เฟนเวย์สามารถสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ด้วยการปล่อยเงินกู้ยืมให้กับสโมสรในช่วงแรกแบบไม่มีดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาการเงิน ต่อด้วยดึงผู้สนับสนุนเข้ามาสู่สโมสรอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างรายได้และกำไรให้กับสโมสร
  • หัวใจสำคัญของการบริหารงานของเฟนเวย์ในสโมสรลิเวอร์พูลคือ การเลือกใช้คนที่ถูกกับงานแบบ Right man for the right job. ซึ่งแน่นอน ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งที่มากกว่าเงิน นั่นคือเวลา

คงไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายถึงปาฏิหาริย์ที่แอนฟิลด์และสนามโยฮัน ครัฟฟ์ อารีนา ที่ส่ง 2 ทีมจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศศึกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเอาชนะการดวลจุดโทษเชลซี คว้าแชมป์ในปีนั้นไปครอง

 

มาในครั้งนี้เป็น 2 ทีมเกาะอังกฤษ ทั้งลิเวอร์พูลและท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่หลายปีที่ผ่านมาเดินหน้าก่อร่างสร้างทีมใหม่ จนสามารถนำพาสโมสรเข้าใกล้ความสำเร็จระดับสูงสุดของยุโรป ขณะที่แชมป์ปี 2008 อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากชายที่มีชื่อว่า เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการทีม  

 

หากจะมองความสำเร็จของลิเวอร์พูล แน่นอนต้องยกย่องหัวจิตหัวใจของการต่อสู้ของนักเตะและทีมงานทุกคนในช่วงเวลาที่ทีมเป็นเป็นรอง แต่จริงๆ แล้วความสำเร็จของทีมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเพียงแค่การมีจิตใจที่เข้มแข็งและทักษะฟุตบอลที่ดีเลิศเท่านั้น

 

แต่มันเกิดจากการบริหารงานของบริษัทที่มีชื่อว่า เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป หรือ FSG ภายใต้การบริหารของ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี ซีอีโอที่รับช่วงเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรจากจากตระกูลยิลเลตต์เมื่อปี 2010

 

การสร้างโมเดลทางการเงินที่ยั่งยืนของลิเวอร์พูลในยุคสมัยของเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป

 

 

การทำธุรกิจของสโมสรฟุตบอลเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากวันที่ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเริ่มต้นมีมูลค่าสูงขึ้น และเริ่มดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเทกโอเวอร์ และเป็นเจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก

 

โดยเฉพาะนักธุรกิจจากฝั่งเอเชียทั้งตะวันออกกลางและจีนต่างเข้ามามีบทบาทในสโมสร ทั้งลีกสูงสุดและลีกรองลงมาในเกาะอังกฤษ จนมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเข้ามาสู่การแข่งขันฟุตบอล และแปลงกีฬาที่โด่งดังที่สุดในอังกฤษให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

 

เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป เป็นบริษัทบริหารกิจการเกี่ยวกับกีฬาจากบอสตัน เจ้าของทีม บอสตัน เรด ซอกส์ จากสหรัฐฯ​ ซึ่งเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรต่อจาก ทอม ฮิกส์ และ จอร์จ ยิลเลตต์ ด้วยเม็ดเงิน 300 ล้านปอนด์ พร้อมคำสัญญาว่า จะบริหารทีมด้วยปรัชญาที่เน้นความยั่งยืน โดยช่วงแรกเงินลงทุนกับสโมสรเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจากเจ้าของแบบไม่มีดอกเบี้ย ส่วนปัญหาทางด้านการเงิน บริษัทเฟนเวย์แก้ไขสถานการณ์ด้วยการจ่ายหนี้สโมสรทั้งหมด 69 ล้านปอนด์

 

จนเวลาผ่านไป 5 ปี สโมสรลิเวอร์พูลสร้างสถิติรายได้สูงสุดที่ 297.9 ล้านปอนด์ ในฤดูกาล 2014-15 สูงขึ้น 16.5% จากฤดูกาลก่อน และสูงขึ้น 61% จากปี 2010 โดยแบ่งรายได้ออกเป็น 122.6 ล้านปอนด์ จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด 116.3 ล้านปอนด์ จากโฆษณา และรายได้จากแมตช์เดย์ทั้งหมด 59 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นสโมสรที่ทำกำไรสูงสุดของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนั้นที่ 60 ล้านปอนด์​ แต่กำไรส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ได้มาจากการขายนักเตะ หลุยส์ ซัวเรซ ให้กับบาร์เซโลนา ไป 65 ล้านปอนด์​

 

การเลือกคนแบบ Right man for the right job.

 

 

การสูญเสียนักเตะหลักหลายคนในยุคสมัยของเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป หากไล่เรียงไปโดยไม่นับรวมความรู้สึกที่มีต่อนักเตะเหล่านี้ในวันที่พวกเขาดิ้นรนอยากออกจากทีม ทั้ง หลุยส์ ซัวเรส, เฟอร์นานโด ตอร์เรส, ฟิลิปป์ คูตินโญ และ ราฮีม สเตอร์ลิง ต้องยอมรับว่า นักเตะเหล่านี้มีฝีเท้าระดับแนวหน้าของเวทียุโรป แต่การเลือกปล่อยตัวนักเตะเหล่านี้ออกไป นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้มหาศาลเข้ามาช่วยสถานการณ์ทางการเงินของสโมสร แล้วยังเป็นการเปิดทางให้กับนักเตะหน้าใหม่ที่เข้ามาต่อเติมตัวตนของสโมสรในทิศทางที่แฟนบอลลิเวอร์พูลต้องการ

 

จากผลงานการลุ้นแชมป์ทั้งพรีเมียร์ลีก และการผ่านเข้าชิงแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ต้องยอมรับว่า หากพวกเขาพลาดแชมป์ทั้งสองรายการ แฟนบอลลิเวอร์พูลก็อาจจะไม่ถึงกับผิดหวังกับทีมงานและนักเตะชุดนี้ ที่วิ่งสู้จนเสียงนกหวีดสุดท้ายในแต่ละเกมที่พวกเขาลงสนาม

 

 

ที่ผ่านมาลิเวอร์พูลมีผู้จัดการทีมทั้งหมด 5 คน ภายใต้การบริหารงานของเฟนเวย์ เริ่มต้นในปีแรก พวกเขาตัดสินใจแยกทางกับ ราฟาเอล เบนิเตส กุนซือชาวสเปน ซึ่งเป็นที่รักของแฟนบอล หลังจากที่พาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกเมื่อปี 2005 ก่อนจะแต่งตั้ง รอย ฮอดจ์สัน เข้ามา

 

แต่ด้วยสถานการณ์ของทีมที่ตกรอบลีกคัพ เอฟเอคัพรอบ 3 และตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก สโมสรก็ตัดสินใจแยกทางกับกุนซือชาวอังกฤษ และแต่งตั้ง เคนนี ดัล์กลิช ขึ้นมากอบกู้สถานการณ์แทน เมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 2011

 

คิงเคนนีอยู่กับทีมเพียงฤดูกาลกว่าๆ พร้อมกับการคว้าแชมป์ลีกคัพ และเข้าสู่รอบชิงเอฟเอคัพ จากนั้นเขาก็พ้นจากตำแหน่งหลังจากที่พาทีมจบอันดับที่ 8 แต่ในช่วงเวลาการคุมทีม เขาได้นำนักเตะอย่าง หลุยส์ ซัวเรส เข้ามาแทนที่ เฟอร์นานโด ตอร์เรส ที่ย้ายไปร่วมทีมกับเชลซีด้วยค่าตัว 50 ล้านปอนด์

 

จนมาถึงฤดูกาล 2012-13 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เฟนเวย์สามารถหาผู้จัดการทีมเหมาะสมกับตำแหน่ง เมื่อ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ย้ายมาคุมทีมลิเวอร์พูลต่อจากผลงานพาทีมสวอนซีขึ้นชั้นมาสู่พรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2010

 

ก่อนที่จะก้าวเข้ามาพาทีมลิเวอร์พูลขึ้นสู่สถานการณ์ลุ้นแชมป์ในฤดูกาลที่ 2 ของเขา พร้อมกับนักเตะหลักอย่าง สตีเวน เจอร์ราร์ด กัปตันทีม และ หลุยส์ ซัวเรส โดยในช่วงท้ายฤดูกาล ลิเวอร์พูลเก็บชัยชนะติดต่อกัน 11 เกมรวด และมีคะแนนห่างจากอันดับที่ 2 ถึง 5 แต้ม และเหลือเพียง 3 เกมเท่านั้น

 

แต่สุดท้ายพวกเขาก็พลาดแชมป์จากเกมที่พ่ายให้กับเชลซีไป 2-0 และเกมต่อมาลิเวอร์พูลก็พลาดเสมอกับคริสตัส พาเลซ และส่งให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้คว้าแชมป์ในปีนั้นไปครอง

 

ก่อนที่ร็อดเจอร์สจะแยกทางกับลิเวอร์พูลในฤดูกาลต่อมา หลังจากที่ทีมจบอันดับที่ 8 และแต่งตั้ง เจอร์เกน คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมัน ที่มาพร้อมกับคำสัญญาว่าจะเล่นฟุตบอลแบบ ‘เฮฟวีเมทัล’ ด้วยการให้สัมภาษณ์ยกย่องทีมอาร์เซนอลภายใต้การคุมทีมของ อาร์แซน เวนเกอร์ ที่เล่นฟุตบอลสวยงามเหมือนวงออร์เคสตรา แต่บทเพลงที่เขาชื่นชอบคือ เฮฟวีเมทัลที่ต้องการแสดงออกแบบดุดัน

 

จากวันที่เขาเข้ามาคุมทีมด้วยสไตล์ดังกล่าว บวกกับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบอร์ดบริหารที่สะสมผู้สนับสนุนด้วยแบรนด์อย่าง Dunkin’ Donuts และ Subway ผ่านคอนเน็กชันของบริษัทแม่ จนทำกำไรให้กับสโมสร มาถึงวันนี้ ลิเวอร์พูลก็สามารถก้าวเข้าสู่รอบชิงยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน

 

 

นอกจากการทดลองและเปลี่ยนแปลงกุนซือแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า แฟนบอลลิเวอร์พูลผ่านความเปลี่ยนแปลงและอดทนรอคอยความสำเร็จที่ต้องใช้เวลานานเกือบ 10 ปี กับผู้จัดการทีมอีก 4 คน กว่าจะพบเจอกับคนที่ใช่ในแบบที่พวกเขาต้องการ

 

และในวันที่พวกเขาพบเจอคนที่ใช่ ลิเวอร์พูลเริ่มต้นเดินหน้าเครื่องจักรสีแดงบุกตลาดซื้อขายนักเตะแบบทีมลุ้นแชมป์อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คล็อปป์ประสบความสำเร็จที่สุด นั่นคือการเอาชนะในตลาดซื้อขายนักเตะ

 

นอกเหนือจากการเป็นทีมที่ลงทุนมากที่สุดในตลาดซื้อขายนักเตะหน้าร้อนครั้งที่ผ่านมา เจอร์เกน คล็อปป์ ยังได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการบริหารจัดการนักเตะ เขากลายเป็นผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงนักเตะที่ไม่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกับเชลซีอย่าง โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ และนักเตะที่อาจจะไม่ใช่ระดับสูงสุดของโลก แต่สุดท้ายเขาสามารถนำพาเข้ามาพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับแท็กติก สไตล์การเล่น และ ดีเอ็นเอของสโมสรได้อย่างลงตัว

 

ปีเตอร์ มัวร์ ซีอีโอผู้บันดาลความสำเร็จจากภายนอกสู่ภายใน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ลิเวอร์พูลภายใต้การบริหารงานของเฟนเวย์ ตัดสินใจนำเอา ปีเตอร์ มัวร์ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของสโมสรลิเวอร์พูล ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปี 2017

 

โดยระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกของ ปีเตอร์ มัวร์ THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาในฐานะซีอีโอคนใหม่ของสโมสร ซึ่งจุดยืนที่ชัดเจนของเขาคือ การนำพาสโมสรสู่ความสำเร็จในด้านธุรกิจ เพื่อต่อยอดความสำเร็จในสนามของ เจอร์เกน คล็อปป์

 

“ผมเห็นหน้าที่ของผมคือ การโฟกัสที่ด้านธุรกิจของสโมสร สร้างทรัพยากรให้ผู้จัดการทีมและผู้อำนวยการกีฬา ให้เราสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ในสนามฟุตบอล

“ฟุตบอลคือธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ ดังนั้น การทำธุรกิจขนาดใหญ่ให้ประสบความสำเร็จคือ ความสำเร็จในด้านต่างๆ ผลักดันรายได้ ลงทุนในจุดที่สำคัญที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุดของสโมสรฟุตบอลคือ ผลงานในสนาม

 

“เจอร์เกน คล็อปป์ คือสิ่งมหัศจรรย์ เขามีเสน่ห์ เป็นผู้จัดการทีมระดับโลก เขาสามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยม มีความหลากหลายเชื้อชาติ บุคลิก ทักษะ อายุ ทั้งหมดนั้นสามารถเข้ามาร่วมกันเป็นทีมที่ลงตัว

“ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม และการวางแผน เขาทำงานร่วมกับ ไมเคิล เอ็ดวูดส์ ผู้อำนวยการกีฬาสโมสร ได้อย่างดีเยี่ยมในสร้างแผนการนี้สู่ความสำเร็จ

“ความสำเร็จของทีมไม่ได้สร้างขึ้นเพียงคืนเดียว หากเป็นแบบนั้น เราจะเห็นทีมที่สามารถคว้าแชมป์ได้โดยไร้เหตุผล แต่มันมาจากความพยายามอย่างหนักหลายปี โฟกัสในการทำงาน สร้างทีม รักษาสมดุลทีมในห้องแต่งตัว มีรูปแบบการเล่นที่ชัดเจนในสนาม ทั้งในเกมที่ชนะและแพ้ ซึ่งผมคิดว่า เจอร์เกนทำมันได้อย่างดีเยี่ยมในจุดนี้”

 

บทสัมภาษณ์ของ ปีเตอร์ มัวร์ เป็นการสะท้อนแง่มุมการบริหารสโมสรลิเวอร์พูลที่คล้ายกับปรัชญาจากวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง สามก๊ก ซึ่งมีคำกล่าวในช่วงตอนหนึ่ง ใจความว่า

 

ซุกเซ็กผู้นำของง่อก๊ก ได้กล่าวไว้ก่อนจะเสียชีวิต โดยสั่งเสียซุนกวน น้องชายไว้ว่า

 

“ในการปกครองบ้านเมือง เรื่องภายในให้ถามโลซก เรื่องภายนอกให้ถามจิวยี่”

 

โลซกกับจิวยี่จึงเหมือนอัครเสนาบดีซ้ายขวา เคียงคู่กับซุนกวน ช่วยสร้างความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองให้แก่ง่อก๊กมาเป็นลำดับ

 

เช่นเดียวกับการแบ่งงานด้านบริหาร สำหรับด้านธุรกิจนอกสนาม เช่น การหารายได้และผู้สนับสนุนของสโมสร คือหน้าที่ของ ปีเตอร์ มัวร์  

 

ขณะที่การบริหารความสำเร็จในสนามฟุตบอลคือหน้าที่ของ เจอร์เกน คล็อปป์

 

การลงทุนกับเวลาของสโมสรฟุตบอลที่กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

 

ความสำเร็จของทีมไม่ได้สร้างเพียงคืนเดียว คือหัวใจสำคัญที่สุดของการบริหารงานจากเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป จากช่วงเวลาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า เฟนเวย์เข้ามากอบกู้สถานการณ์การเงินของลิเวอร์พูล ในวันที่สโมสรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเกาะอังกฤษ​มีหนี้สินกว่า 200 ล้านปอนด์  

 

พวกเขาเริ่มต้นจากการแก้ไขจุดที่สำคัญที่สุดของสโมสรฟุตบอลสมัยใหม่ ซึ่งกลายร่างเป็นธุรกิจขนาดใหญ่นั่นคือ การหารายได้และผู้สนับสนุน ในขณะเดียวกันก็คงตัวตนของสโมสรไว้ เพื่อรักษาและต่อยอดฐานแฟนบอลจากทั่วโลก

 

จนถึงจุดที่สโมสรสามารถแก้ไขสถานการณ์ทางการเงิน และวันนี้ที่สโมสรเตรียมพร้อมเจรจาปิดดีลผู้สนับสนุนชุดแข่งใหม่ พวกเขาก็สามารถมองหาดีลที่จะทำสถิติสูงสุดในเกาะอังกฤษได้

 

และสุดท้าย พวกเขาก็สามารถกลับมาลงทุนในจุดที่สำคัญที่สุดของสโมสรฟุตบอล นั่นคือผลงานในสนามแข่งขัน ด้วยการเข้าสู่เส้นทางลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรก นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อการแข่งขันลีกสูงสุดของเกาะอังกฤษในปี 1992 และสามารถทำคะแนนไปแล้ว 94 แต้ม ซึ่งนับว่าคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 รองจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ทำไว้ 100 แต้มในฤดูกาลที่แล้ว และเชลซีของ โฆเซ มูรินโญ ที่ทำไว้ 95 คะแนน นับตั้งแต่ปี 1992

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับการหาสมการที่ลงตัวสำหรับอนาคต

ข้ามมาดูที่ฝั่งของสโมสรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเวลานี้ หลังจากที่ตัดสินใจแต่งตั้ง โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ มาเป็นผู้จัดการทีมได้ไม่ถึงครึ่งฤดูกาล ตอนนี้แฟนบอลและสื่อต่างประเทศก็ยังหาจุดลงตัวที่จะสามารถแก้ไขปัญหาภายในทีมไม่สำเร็จ

 

เพราะหากมองถึงตัวตนสโมสร บ้างก็มองว่า การนำ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ กลับมา จะนำวิธีการและดีเอ็นเอของสโมสรในยุคทองของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กลับมาได้บ้าง แต่มาถึงจุดนี้ หลายฝ่ายก็เริ่มหมดความมั่นใจกับความเชื่อนั้น

 

รอย คีน อดีตนักเตะระดับตำนานของสโมสร ถึงกับออกมากล่าวว่า สโมสรต้องกำจัดวัชพืชที่กัดกินสโมสรจากด้านใน ซึ่งหลายฝ่ายตีความไปถึง พอล ป็อกบา กองกลางชุดแชมป์โลกชาวฝรั่งเศส ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ที่สร้างปัญหาภายในทีมในยุคของ โฆเซ มูรินโญ

 

นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการฟุตบอล โดยมองไปที่ ริโอ เฟอร์ดินานด์ อดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาเพื่อควบคุมทิศทางการพัฒนาฟุตบอลภายในทีม

 

รวมถึงผลกระทบของความสำเร็จของทีมคู่อริอย่างลิเวอร์พูล ส่งผลให้แฟนบอลเริ่มเดินหน้าแคมเปญ #UnfollowManUnited ซึ่งเป็นแคมเปญที่แฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดทั่วโลก นำโดยอังกฤษ รวมตัวกันเพื่อต่อต้าน เอ็ด วูดเวิร์ด ประธานกรรมการบริหารของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยการ ‘เลิกติดตาม’ หรือ Unfollow โซเชียลมีเดียต่างๆ ของสโมสร เนื่องจากยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย คือภาพสะท้อนของความสำเร็จในแง่ธุรกิจของสโมสร ซึ่งเป็นหน้าที่ของเอ็ด เพื่อกดดันให้เขาพ้นจากตำแหน่งการบริหารที่แฟนบอลเชื่อว่า คือปัญหาหลักของสโมสรในเวลานี้

 

สโมสรต่างๆ ในช่วงเวลานี้ ต่างเข้าสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งบาร์เซโลนาที่ ซาบี้ เฮอร์นันเดซ ตำนานสโมสรให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ Barca: The Making of the Greatest Team in the World จากเกรแฮม ฮันเตอร์ ว่าสโมสรบาร์เซโลนามีปัญหาในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่นในวันที่เขาเกือบตัดสินใจย้ายไปร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เนื่องจากนักเตะที่เล่นอยู่ในตำแหน่งของเขาคือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

 

ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฟุตบอลที่กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีผู้กำหนดทิศทางอย่างชัดเจน และผลงานของเฟนเวย์กับลิเวอร์พูล แม้ว่าจะไม่ใช่สโมสรที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แต่การผสมผสานระหว่างความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม รวมถึงการดูแลใส่ใจแฟนบอลที่ ปีเตอร์ มัวร์ ซีอีโอ เรียกว่าครอบครัวฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นโมเดลสำคัญที่น่าศึกษา

 

ไม่ใช่แค่สำหรับฟุตบอล แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกที่ต้องการสร้างสิ่งที่เฟนเวย์วางเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกนั่นคือ ปรัชญาของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising