เป็นไปตามที่เหล่านักวิเคราะห์จากหลากหลายสำนักคาดการณ์กันไว้ เมื่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 กันยายน) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี
การคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งหมด 11 ครั้ง นับตั้งแต่ที่ Fed เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2022 ส่งผลให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันรวม 5.25%
ขณะเดียวกัน Fed ยังได้ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปี 2023 พร้อมคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ Dot Plot ว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยประเมินว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ภายในปี 2024 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงแตะระดับ 5.1%
นอกจากนี้ Fed ยังคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดแตะ 3.9% ในปี 2025 ก่อนลดลงมาอยู่ที่ 2.9% ในช่วงสิ้นปี 2026 พร้อมคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยแล้ว Fed ยังได้แก้ไขการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้ โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP จะเพิ่มขึ้น 2.1% ในปีนี้ ส่วนอัตราการว่างงานคงที่ที่ 3.8% ก่อนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ในช่วงปลายปี 2023
ด้านทิศทางเงินเฟ้อ Fed ประเมินว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะลดลงมาแตะ 3.3% ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนลดลงแตะระดับ 2.5% ภายในสิ้นปีหน้า และลดลงแตะระดับ 2.2% ในช่วงสิ้นปี 2025 กระทั่งสามารถแตะระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed ที่ 2% ได้ในปี 2026
รายงานระบุว่า นอกจากส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า พร้อมแสดงท่าทีชัดเจนว่าอาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้าแล้ว Fed ยังคงลดการถือครองพันธบัตรลงอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นกระบวนการที่ทำให้งบดุลของธนาคารกลางลดลงประมาณ 8.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022
เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชนหลังแถลงมติที่ประชุมว่า ขณะนี้ Fed กำลังอยู่ในฐานะที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในการกำหนดขอบเขตของการเดินหน้าใช้นโยบายสายเหยี่ยวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม พาวเวลล์ย้ำว่า Fed ยังคงต้องการเห็นความคืบหน้าในทางบวกกับการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทิศทางแนวโน้มนโยบายทางการเงินใดๆ และกล่าวว่า Fed ต้องการเห็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือจริงๆ ว่าเงินเฟ้อปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในขณะนี้ Fed ต้องรอดูข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากกว่านี้ก่อนจึงจะสามารถบรรลุข้อสรุปใดๆ ได้
แอนดรูว์ ฮอลเลนฮอร์สต์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup ชี้ว่า พาวเวลล์และ Fed ส่งสารชัดเจนแล้วว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงในระยะยาวต่อไป ขณะเดียวกัน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีโอกาสชะลอตัวลง แต่ภาวะตึงตัวในตลาดงานจะทำให้เงินเฟ้อติดอยู่ในระดับสูงนานกว่าเป้าหมายที่ Fed คาดการณ์ไว้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตัวแดนลบ รับมติ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบปลายปี
บรรยากาศตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน (ตามเวลาท้องถิ่น) ปิดตลาดปรับตัวลดลง หลัง FOMC ลงมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่ส่งสัญญาณชัดเจนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนี Dow Jones Industrial Average (DJIA) ปรับตัวลดลง 76.85 จุด หรือ 0.22% ปิดที่ 34,440.88 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 41.75 จุด หรือ 0.94% ปิดที่ 4,402.20 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 209.06 จุด หรือ 1.53% ปิดที่ 13,469.13 จุด
นักวิเคราะห์ระบุว่า เหล่านักลงทุนในตลาด Wall Street เทขายหุ้นหลังพาวเวลล์ออกมาแถลงมติของ Fed เนื่องจากท่าทีล่าสุดสะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงน่าเป็นห่วง และยังมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเผชิญกับภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลัง Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.167% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2006 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.393% ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2007
ส่วนราคาทองคำในวันพุธที่ผ่านมาทรงตัว หลัง Fed ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยหลังปรับขึ้น 5 วันติดกัน โดยราคาทองคำตลาด COMEX งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 13.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ปิดที่ 1,967.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
อ้างอิง: