สำนักข่าว Bloomberg รายงานความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า การขึ้นแถลงต่อคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ (6 มีนาคม) และคณะกรรมการวุฒิสภาในวันพฤหัสบดี (7 มีนาคม) เกี่ยวกับนโยบายการเงินรายครึ่งปี จะเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ไม่ได้ ‘เร่งรีบ’ ในการลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความคาดหวังของบรรดานักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกที่อยากให้ Fed หั่นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี 2024
อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวลล์ และเจ้าหน้าที่ Fed ต่างออกมาประสานเสียงไปในทางเดียวกันว่า Fed ยังคงสามารถอดทนชะลอการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเวลานี้ โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (PCE) ในเดือนมกราคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ทำให้การคาดการณ์จากเดิมที่ Fed น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมล่าช้าออกไปเป็นเดือนมิถุนายน
ขณะเดียวกันในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะเปิดเผยรายงานดัชนี PCE ทางพาวเวลล์ให้ได้สัมภาษณ์กับทางรายการ CBS’s 60 Minutes ระบุว่า อันตรายจากการด่วนตัดสินใจก่อนเวลาอันสมควรจะทำให้ภารกิจที่ Fed ต้องทำไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี โดยตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาต่างระบุตรงกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเป็นหลักฐานบ่งชี้ที่แท้จริงว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ กำลังมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ Fed ต้องการ
รายงานระบุว่า บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เหล่าวุฒิสภามีแนวโน้มที่จะกดดันให้พาวเวลล์แจกแจงถึงเหตุผลสำคัญที่ Fed ยังคงต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ค่อนข้างสูงมากในปัจจุบัน ซึ่งจะเสี่ยงกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องเงินเฟ้อของ Fed ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์นี้รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองก็คือ รายงานตำแหน่งงานรายเดือนที่จะเผยแพร่ในวันศุกร์นี้ (8 มีนาคม) ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า การเติบโตของเงินเดือนจะชะลอลงในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 200,000 ราย หลังจากเพิ่มขึ้น 353,000 รายในเดือนมกราคมก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นอัตราที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.7% ในขณะที่การเติบโตของรายได้รายชั่วโมงอาจลดลง
ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก Bloomberg Economics รวมถึง แอนนา หว่อง, สจวร์ต พอล, เอลิซา วิงเกอร์ และ เอสเตเล อูระบุว่า พาวเวลล์น่าจะรักษาจุดยืนแบบเหยี่ยวในคำให้การทุกครึ่งปีของเจ้าตัวต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดว่า Fed ไม่รีบร้อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ย และหากการทำดังกล่าวนำไปสู่ภาวะทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็จะรักษาแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลกระทบล่าช้าเพิ่มเติมจากนโยบายการเงิน”
ด้านสถานการณ์อื่นๆ ที่น่าจับตามองในรอบสัปดาห์นี้ครอบคลุมถึงการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีน การพิจารณางบประมาณของสหราชอาณาจักร และการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี (7 มีนาคม) ที่คาดว่าจะมีการเปิดเผยการคาดการณ์รายไตรมาสแรกของปี ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า ECB กำลังเข้าใกล้การลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
อ้างอิง: